ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากบทบัญญัติบางประการของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำประมงในประเทศ จึงส่งผลกระทบทำให้ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพไป และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพการทำประมง
นอกจากนี้ พ.ร.ก.การประมง ดังกล่าวยังไม่แบ่งแยกการบังคับใช้ระหว่างประมงพาณิชย์ กับประมงพื้นบ้าน แต่กลับเหมารวมหมด ทำให้เมื่อมีการบังคับใช้แล้วจึงเกิดผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ทำประมงพื้นบ้านที่อยู่ชายฝั่งทะเล 20 จังหวัด กว่า 6 แสนครัวเรือน
“พ.ร.ก.ประมง ที่ออกมาก่อนหน้านั้น เป็นการสนองต่อคู่ค้าทางประมง ที่เห็นว่าการทำประมงของไทยมีปัญหา IUU เยอะ ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.ที่ออกมา มีวัตถุประสงค์บังคับใช้ในการเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎ IUU ดังนั้น รัฐบาลนี้เล็งเห็นว่า พ.ร.ก.ที่ออกมา แม้จะดีในแง่การบังคับใช้กับคนที่ทำผิด IUU แต่ควรต้องเพิ่มความละเอียดว่าประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้สร้างปัญหาระดับนานาชาติอะไรเลย แต่กลับได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องแก้ไขความไม่ละเอียดของกฎหมายเดิม แต่ยังคงบังคับใช้การลงโทษผู้ทำผิดกติกาสากล IUU ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของเราไว้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ประมง มีดังนี้
1. กำหนดให้ผู้ที่มาขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้านต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น จากเดิมที่ไม่กำหนดสัญชาติ
2. ยกเลิกการริบเรือประมงที่ทำความผิด แต่ให้เหลือแค่การพักใบอนุญาตชั่วคราว
3. ให้ลงโทษเฉพาะเรือประมงลำที่ทำผิดเท่านั้น ไม่เหมารวมเรือประมงทุกลำของผู้ที่เป็นเจ้าของเรือ
4. เรือประมงขนาด 10-15 ตันกรอส สามารถโอนใบอนุญาตให้ทายาทได้
5. รายงานสถิติการทำประมงภายในไม่เกิน 31 ธ.ค.ของปีถัดไป
“มติ ครม.เห็นชอบหลักการตามร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอ แต่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปศึกษาให้ละเอียดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้คิดว่าดีแล้ว จะมีจุดไหนบ้างที่ยังขัดแย้งกับ IUU Fishing…กฤษฎีรับว่าจะไปดูให้จบภายใน 1 เดือน และจะนำกลับเข้ามารายงาน ครม.อีกครั้ง” นายชัย ระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาด้วยแล้ว รวม 21 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 1 ฉบับ ระเบียบ 2 ฉบับ และประกาศ อีก 18 ฉบับ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.การประมง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการของ IUU ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างของ ครม. ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือน และจะนำเข้าสู่ ครม. อีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 67)
Tags: ประชุมครม., พ.ร.ก.ประมง, มติคณะรัฐมนตรี, เศรษฐา ทวีสิน