ส.อ.ท. ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้ 1.9 ล้านคัน จับตาภูมิรัฐศาสตร์กระทบส่งออก-ยอดขาย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่าการผลิตรถยนต์ในปี 67 ประมาณ 1,900,000 คัน มากกว่าปี 66 ซึ่งมีจำนวน 1,841,663 คัน เพิ่มขึ้น 3.17% แบ่งเป็น

 

ผลิตเพื่อการส่งออก

การผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน เท่ากับ 65% ของยอดการผลิตทั้งหมด โดยลดลง 0.52% จากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,156,035 คัน

– ปัจจัยบวก ได้แก่

1. ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะ ซึ่งขนส่งสินค้า และคนเพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ จึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากจากเศรษฐกิจชะลอตัว

2. ประเทศจีนเปิดประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลก และการท่องเที่ยวเติบโต เป็นผลดีต่อการส่งออกของหลายประเทศดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย

3. การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงมาก ส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น

4. การลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาจมีการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า

5. คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า สหรัฐฯ, ยุโรป และจีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC

6. อัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น

-ปัจจัยลบ ได้แก่

1. การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและการเพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกลดลง และเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น

2. ตลาดทั้งในและต่างประเทศเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกัน และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาคเพิ่มขึ้น

3. นโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เช่น การขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทในสปป.ลาว

 

ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ

ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 750,000 คัน เท่ากับ 35% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 9.39% จากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 685,628 คัน

– ปัจจัยบวก ได้แก่

1. การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยง Supply Chain ของอุตสาหกรรม

2. ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

3. เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

– ปัจจัยลบ ได้แก่

1. หนี้ครัวเรือนสูง หนี้สาธารณะสูง ค่าครองชีพสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ยอดขายอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมี Supply chain หลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปราว 8 เดือนทำให้การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าออกไปด้วย ส่งผลให้การลงทุนการจ้างงานของเอกชนล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจึงเติบโตในระดับต่ำ

3. ภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึง อาจจะกระทบต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร

4. ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจขยายตัว และเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ จะส่งผลให้ราคาพลังงาน สินค้า และวัตถุดิบสูงขึ้น

5. การส่งออกสินค้าต่างๆ ในปีนี่อาจลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลการผลิตการลงทุนการจ้างงานลดลง อำนาจซื้อลดลง

“ยังคงกังวลเรื่องความขัดแย้ง และสงคราม ว่าจะขยายวงกว้างไปมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งก็เริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่าตอนนี้เริ่มขยายตัว อาจจะกระทบการส่งออกและยอดขายในประเทศได้ อย่างไรก็ดี ยอดขายประเทศคู่ค้าเติบโตดีมาก ส่วนปัจจัยในประเทศคาดว่า เม็ดเงินลงทุนภาครัฐในเดือนพ.ค. จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ยอดขายดีขึ้นได้” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top