ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2567 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1. ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แม้จะชะลอลงบ้างอยู่ที่ราว 2.5% 2. ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ จะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ 3. ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง และนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ 4. ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันการส่งออกของไทยผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เช่น ไทย-ศรีลังกา ซึ่งจะลงนามในช่วงต้นปีนื้ รวมทั้ง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งวางแผนเจรจาให้สำเร็จในปีนี้
SCB EIC มองว่า ห่วงโซ่อุปทานโลก อาจเผชิญความเสี่ยงอีกครั้ง จาก
1. เหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) โดยในเดือน ธ.ค.66 ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังคลองสุเอซ และนับเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญระหว่างยุโรปและเอเชีย มีปริมาณการขนส่งคิดเป็น 12% ของการขนส่งทางทะเลของโลก การโจมตีของกบฏฮูตี ส่งผลให้บริษัทขนส่งรายใหญ่หลายรายตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางคลองสุเอซ เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย และเปลี่ยนไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในประเทศแอฟริกาใต้แทน ทำให้ใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้น 10-15 วัน และส่งผลให้ผู้ส่งออกจากเอเชียต้องจ่ายค่าระวางเรือและค่าประกันภัยทางเรือเพิ่มสูงขึ้น
2. ความแห้งแล้งของคลองปานามาที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ คิดเป็น 5% ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก โดยตั้งแต่ปี 66 ปานามาเผชิญปัญหาแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนน้อย ทำให้ระดับน้ำในคลองลดลงมาก องค์การบริหารคลองปานามา (Panama canal authority) จึงจำเป็นต้องจำกัดจำนวนเรือสัญจรผ่านคลองปานามาในแต่ละวัน การจำกัดจำนวนเรือดังกล่าว ทำให้เรือขนส่งสินค้าจากเอเชียจะต้องจอดรอนานขึ้น เพื่อสัญจรผ่านคลองปานามาไปยังสหรัฐฯ แต่หากเรือขนส่งสินค้าไม่อยากรอ อาจเลือกจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อขอลัดคิวและสัญจรผ่านคลองปานามาไปก่อนได้ หรืออาจเลือกเดินทางอ้อมทวีปอเมริกาใต้แทน
SCB EIC วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ข้างต้น มีแนวโน้มทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงัก และอาจกระทบการส่งออกไทยได้ ประเมินว่าสินค้าจากประเทศทางเอเชียส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกส่งออกไปที่ท่าเรือในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเส้นทางคลองปานามาเป็นหลัก การส่งออกไทยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความแห้งแล้งของคลองปานามามากนัก
นอกจากนี้ ระยะเวลาขนส่งที่ยาวนานขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อการขนส่งเส้นทางอื่น ๆ และทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าระวางเรือในเส้นทางไทย-ยุโรป ของเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตและ 40 ฟุตเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 และ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ เพิ่มจากปี 2566 ถึง 3 เท่า แม้ค่าระวางเรือจะยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดช่วงหลังโควิด-19 ค่อนข้างมากก็ตาม
สำหรับค่าระวางเรือในเส้นทางการขนส่งจากไทยไปสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังการโจมตีเช่นกัน โดยค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตและ 40 ฟุตในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ ฝั่งชายฝั่งตะวันตก ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 และ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตและ 40 ฟุตในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ ฝั่งชายฝั่งตะวันออกปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,200 และ 6,900 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับค่าระวางเรือในปี 2566 ถึง 3 เท่าเช่นกัน
“การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตี ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ว ๆ นี้ จึงอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป” บทวิเคราะห์ระบุ
โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเดือน ธ.ค.66 ขยายตัว 4.7% ที่มูลค่า 22,791.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนภาพรวมการส่งออกรายตลาด พบว่า ตลาดยุโรป หดตัวแรงขึ้นเป็น -8.4% แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์การโจมตีกลุ่มกบฏฮูตี ในบริเวณทะเลแดงที่อาจส่งผลให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปยุโรปใช้เวลานานขึ้นและมีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากว่าการส่งออกไปยุโรป หดตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 เดือนแล้วตามภาวะทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่าผลจากการโจมตีดังกล่าว อาจชัดเจนขึ้นในเดือน ม.ค.67
ขณะที่ การส่งออกของไทย ทั้งปี 66 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 284.561.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเล็กน้อยที่ -1.0%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 67)
Tags: SCB EIC, ทะเลแดง, ธนาคารไทยพาณิชย์, ปีมังกร, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, ส่งออกไทย, เศรษฐกิจโลก