นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ไทย

สกุลเงินบาทไทยมีแนวโน้มเผชิญเดือนม.ค.ที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วงลงไปแล้วเกือบ 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และภาวะเงินไหลออกอย่างหนักหน่วงส่งสัญญาณว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเพิ่ม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทเคยเป็นค่าเงินที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชียในไตรมาส 4/2566 ก่อนจะกลายเป็นค่าเงินที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากกองทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์ไทยท่ามกลางการโต้แย้งกันระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่อ่อนแอลง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทยระบุในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยวิตกกังวลว่าต้นทุนการกู้ยืมเงินที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้เหตุผลว่า การลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจไทยได้

“เงินบาทจะได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง” นายอัลวิน ถาน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราเอเชียของบริษัทอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ (RBC Capital Markets) ในสิงคโปร์ระบุ พร้อมแสดงการคาดการณ์ว่า ดอลลาร์สหรัฐ-บาทไทยจะซื้อขายในกรอบ 36.0-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังปิดที่ 35.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิรวมแล้ว 808 ดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางความวิตกกังวล ขณะเดียวกัน ตราสารหนี้ของไทยก็ไม่น่าดึงดูดเช่นเดียวกัน เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ของไทยเผชิญภาวะเงินไหลออกหลังมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้และข่าวอื้อฉาวเรื่องการตรวจสอบบัญชีครั้งใหญ่สั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

รายงานระบุว่า บรรดาเทรดเดอร์จะจับตาข้อมูลในวันพุธที่ 31 ม.ค. เพื่อพิจารณาว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนธ.ค.ของไทยดีขึ้นหรือไม่ หลังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพ.ย. โดยก่อนหน้านี้ไทยได้ให้สิทธิวีซ่าฟรีแก่นักเดินทางชาวจีนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

“ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นของไทยถือเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท แต่การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวและยอดนักท่องเที่ยวจีนในปี 2566 นั้นยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด” นายนิโคลาส เชีย นักกลยุทธ์มหภาคของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ เอสจี จำกัด ระบุ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้าถือเป็นอีกปัจจัยลบสำหรับค่าเงินบาท เนื่องจากเหล่าเทรดเดอร์เริ่มเปลี่ยนมาคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพ.ค.ปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. ซึ่งกรณีดังกล่าวหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top