นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าในปี 2567 จะเป็นปีวิกฤติของบริษัทเอกชนที่มีสัดส่วนหนี้สูงเมื่อเทียบกับทุน หรือมีการลงทุนเกินตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย หรือมาตรการการคลัง จะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติลงได้บ้าง โดยมาตรการเงินจะทำได้เร็วกว่า เพราะมาตรการทางการคลัง ต้องผ่านกระบวนการทางการเมือง และการดำเนินการของระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจมีการผลิตไม่เต็มที่ มีเครื่องจักรที่ไม่ได้เดินเครื่อง มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขายไม่ออกจำนวนมาก จากการลงทุนเกินในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจติดกับดักไม่ขยายตัวตามศักยภาพ
การผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ในปี 2567 ที่จะเพิ่มมากขึ้น ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และลดดอกเบี้ย ประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ก่อน แล้วจึงไปเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้และติดตามทวงหนี้ และต้องไปไม่ไหวจริงๆ จึงปล่อยให้ล้มไปตามสภาพ
เราควรต้องศึกษาบทเรียนจากการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 ในระยะแรกที่ใช้การแก้ปัญหาแบบแยกส่วนด้วยการใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินและการคลัง จนก่อให้เกิดการล้มละลายในวงกว้าง และคนว่างงานจำนวนมากในช่วงดังกล่าว
“ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารลดดอกเบี้ยบรรเทาปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ได้ ไม่กระทบเสถียรภาพเงินบาท และเงินเฟ้อ เงินเฟ้อติดลบอยู่ และมีแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อไป การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ ลดแรงกดดันหนี้สินต่อภาคครัวเรือน เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ” นายอนุสรณ์ ระบุ
สำหรับเศรษฐกิจปี 66 อาจโตต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยตัวเลขคาดการณ์ GDP ของกระทรวงการคลัง มีความเป็นไปได้ที่อาจขยายตัวเพียง 1.8% หาก GDP ไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัว 1.4% ภาคการผลิตอุตสาหกรรมติดลบเกิน 4% (สัดส่วน 32% ของระบบเศรษฐกิจ) ภาคเกษตรกรรมติดลบมากกว่า 2% (สัดส่วน 8%) แม้ GDP ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงก็ตาม
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เราสามารถเพิ่ม GDP เพิ่มรายได้ จากการกระตุ้นอุปสงค์ การบริโภคสินค้าผลิตภายในประเทศ ด้วยการลดดอกเบี้ย รวมทั้งการเพิ่มใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นการลงทุนที่ผลิตภายในประเทศเพื่อให้เกิดรายได้ การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยเพิ่ม GDP ในระยะสั้น ส่วนการเพิ่ม GDP ในระยะยาวนั้น ต้องเกิดจากการลงทุนในการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันเพื่อขยับศักยภาพของระดับเศรษฐกิจสูงขึ้นไปอีก คือ การเคลื่อนเส้น Production Possibility Frontier สูงขึ้นนั่นเอง
สำหรับปัญหาหนี้สินคงค้างในตลาดตราสารหนี้ไทยปีที่แล้ว มีมูลค่าคงค้างกว่า 16.5 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีออกหุ้นกู้ระยะยาวใหม่อีก 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็น หุ้นกู้ Investment Grade และหนี้ครัวเรือน 16.2 ล้านล้านบาท ขณะนี้อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 16.7-16.9 ล้านล้านบาทในปลายปีนี้ได้
นายอนุสรณ์ มองว่า การแก้ไขปัญหาระบบหนี้สินของไทยต้องใช้การปรับโครงสร้าง เพิ่มผลิตภาพเพื่อให้ความสามารถในการทำกำไรและหารายได้สูงขึ้น แต่การดำเนินการเหล่านี้ใช้เวลานาน การบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นจึงมีความสำคัญพอๆ กับการแก้ปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้าง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของระบบสถาบันการเงิน มีความสำคัญกว่าการใช้นโยบายดอกเบี้ยไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“เดิมหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 76% ต่อ GDP ในปี 2555 มาอยู่ที่ 84% ต่อ GDP ในปี 2562 และถูกซ้ำเติมรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด 19 ที่ 95% ต่อ GDP ในปี 2564 และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ 91% ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า คุณภาพหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปตัว K ทำให้ครัวเรือนและกิจการบางส่วน ยังคงประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้อย่างชัดเจน
ความเสี่ยงของการ Rollover หุ้นกู้ภาคเอกชนจำนวน 8.9 แสนล้านในปีนี้เพิ่มขึ้น หากสภาพคล่องตึงตัว และดอกเบี้ยไม่ลดลงจากระดับปัจจุบัน แต่นายอนุสรณ์ เชื่อว่าจะยังไม่มีวิกฤติใดๆ ในตลาดหุ้นกู้ เนื่องจากยอดผิดนัดชำระหนี้ขณะนี้ยังไม่ถึง 1% ของหนี้คงค้างทั้งหมด มีหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงและไม่มีอันดับเครดิตประมาณ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 67)
Tags: ธปท., ลดดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย