ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ทั้งนมพาสเจอไรส์ นมยูเอชที นมสเตอริไรส์ ยื่นขอปรับขึ้นราคามายังกรมฯ แล้ว 5-6 ราย จากก่อนหน้านี้ที่ยื่นมาแล้ว 2 ราย
ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสาร หลักฐาน และวิเคราะห์ต้นทุน รวมถึงราคาที่เหมาะสม จะใช้เวลาพิจารณา 15 วันหลังจากยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้ว โดยยืนยันว่าให้พิจารณาปรับขึ้นจากเหตุต้นทุนน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่รวมถึงต้นทุนอื่นตามที่เอกชนเคยขอมา เช่น ต้นทุนค่าไฟฟ้า เป็นต้น
ปัจจุบัน ต้นทุนน้ำนมโคดิบที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ประกาศปรับขึ้นอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 22.75 บาท จากเดิมกก.ละ 20.50 บาท หรือเพิ่มขึ้นกก.ละ 2.25 บาท
“กรมฯ ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเกณฑ์การพิจารณายังยึดเรื่องต้นทุนน้ำนมดิบเท่านั้น ต้นทุนอื่นไม่ได้พิจารณาร่วม และแต่ละผลิตภัณฑ์จะขึ้นราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้ ถ้าเป็นนมรสจืดจะได้น้ำนมดิบ 100% จะขึ้นราคามากกว่า แต่ถ้าเป็นนมปรุงแต่ง มีส่วนผสมอื่นก็จะขึ้นตามสัดส่วนการใช้นมดิบ แต่ถ้าใครใช้นมผงจะไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงนมเปรี้ยว และโยเกิร์ตด้วย ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือก ไม่ต้องขออนุญาต” ร.ต.จักรา กล่าว
สำหรับขั้นตอนหลังจากผู้ประกอบการได้ยื่นขอขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมแล้วนั้น รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลเอกสารสำคัญใช้ประกอบการขอขึ้นราคา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ในอัตราที่มีการปรับขึ้นใหม่แล้วที่ กก.ละ 22.75 บาท และข้อมูลเกี่ยวกับสูตรการผลิต ที่มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในการผลิตสินค้านมกล่อง หรือนมขวดของประเภทนั้นๆ ที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ย้ำว่าราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ จะปรับขึ้นไม่เท่ากัน เพราะแต่ละชนิดใช้น้ำนมดิบไม่เท่ากัน รวมถึงหากเป็นสต็อกการผลิตเก่าที่เป็นต้นทุนเดิม ก็จะต้องขายตามราคาเดิมต่อไปด้วย
ร.ต.จักรา กล่าวว่า การดูแลราคาและปริมาณสินค้านั้น ขณะนี้กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยยึดแนวทางให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ค้าขายด้วยความเป็นธรรม โดยจากการติดตามสถานการณ์ตามห้างค้าส่ง ค้าปลีก มีสินค้าทุกประเภทเพียงพอ และการจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงสินค้าอาหารสด อาหารสำเร็จรูป วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร เช่น ซอสปรุงรส ข้าวสารบรรจุถุง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ของใช้ประจำวัน เครื่องครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับความนิยม ขนาดบรรจุ 180-225 มิลลิตร ขอปรับขึ้นราคาอีก 0.25-0.50 บาท ส่วนขนาดใหญ่เกิน 1 ลิตร อาจขึ้นราคาเกิน 2 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 67)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จักรา ยอดมณี, ราคานม