รัฐบาลเร่งผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการจัดตั้งทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (Sky Doctor) พร้อมระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการที่มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วย และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ โดยตั้งเป้าจัดทีมแพทย์ฉุกเฉินตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับสากลในเขตสุขภาพทั้งหมด 13 เขต 20 หน่วยทั่วประเทศ
“ปัจจุบันมีการใช้ทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศในหลากหลายพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งระบบของ Sky Doctor ดำเนินการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ภูเขาสูง พื้นที่เกาะในทะเล หรือในเมืองที่มีการจราจรติดขัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปทำการรักษา ณ โรงพยาบาลเครือข่ายระดับสูง”
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โดยสถิติการออกปฏิบัติของทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศในช่วงปี 2564-2566 ชี้ให้เห็นว่า การออกปฏิบัติทั้งสิ้น 401 ครั้ง ภายใต้การปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ด้านอากาศยานที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 9 หน่วย เป็นการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวน 398 ครั้ง และลำเลียงอวัยวะจำนวน 3 ครั้ง เป็นหน่วยที่อยู่ในเขตสุขภาพ 3 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และ เขตสุขภาพที่ 11 ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร
ทั้งนี้ได้วางแผนพัฒนาการให้บริการทางทะเลฝั่งอันดามันในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยวและพื้นที่เกาะ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล และตรัง เพื่อรองรับฤดูการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
“การเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียม ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาชีวิตผู้ป่วย ระบบ Sky Doctor ที่มีมาตรฐานในระดับสากลจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยรัฐบาลผลักดันให้มีจัดตั้งทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีครบทุกเขตทั่วประเทศ” นายชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 67)
Tags: Sky Doctor, แพทย์ฉุกเฉิน