นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.77 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดเย็นวานนี้
เช้านี้ เงินบาททรงตัวจากเมื่อเย็นวาน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อคืนเป็นแบบผสม โดยถึงแม้จีดีพีไตรมาส 4/66 จะขยายตัว 3.3% สูงเกินคาดการณ์ แต่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์ ก็สูงกว่าคาดการณ์เช่นกัน
ส่วนปัจจัยในประเทศต้องดูทิศทางของเงินทุนต่างประเทศ เมื่อวานต่างชาติขายหุ้น 2 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตร 2 พันล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้บาทอ่อนค่า
“ทิศทางบาทวันนี้ น่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ คงไม่อ่อนค่าไปมากนัก”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.65 – 35.90 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 147.71 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 147.65 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0837 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0895 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.758 บาท/ดอลลาร์
- กระทรวงพาณิชย์ จะแถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนธ.ค.66 และสรุปภาพรวมทั้งปี 2566 โดยต้องดูว่าการส่งออกเดือนธ.ค.จะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และกระทรวงพาณิชย์จะให้มุมมองแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 อย่างไร
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยสิ้นปี 67 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังน่าเป็นห่วง ทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็ว คุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) ขานรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2566 ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงหลังจาก ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้
- ราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นเหนือระดับ 76 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันและการค้าโลก
- นักลงทุนรอดูดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ส่งผลให้ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของหลายประเทศ ที่จะมีการรายงานในวันนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่นจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค.ของกรุงโตเกียว และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม, อังกฤษเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. จากสถาบัน Gfk, สิงคโปร์เปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค., เยอรมนีเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากสถาบัน Gfk ทางด้านสหรัฐเตรียมเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนธ.ค. และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนธ.ค.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 67)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท