ฟิทช์ คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน THRE ที่ ‘A-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ที่ ‘A-’ (หรืออยู่ในระดับ “แข็งแกร่ง”) และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การประกาศคงอันดับเครดิตของ THRE สะท้อนถึงระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โครงสร้างบริษัทประกันภัยที่ยังแข็งแรง (Favorable Company Profile) และการคาดการณ์ของฟิทช์ว่ากำไรของบริษัทจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2567

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

ผลประกอบการที่มีเสถียรภาพมากขึ้น: ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวขึ้นมามีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2567 โดยมีอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Combined Ratio) อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100% การเติบโตด้านธุรกิจน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจประกันภัยด้านอุบัติเหตุและสุขภาพ (Accident and Health line) และธุรกิจการรับประกันภัยต่อ (Conventional business) จากสภาวะแวดล้อมของตลาดที่เอื้อต่อผู้รับประกัน (Hard Market) ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Combined Ratio) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ได้ปรับตัวดีขึ้นมาที่ 98% จากเดิม 112% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของค่าสินไหมทดแทนสำหรับประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโควิท-19 ในปี 2566 ฟิทช์คาดว่าอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on equity) จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2567 ที่ประมาณ 4-6% ทั้งนี้อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 5% โดยประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เทียบกับ -9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565

ฟิทช์คาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาเกณฑ์และเงื่อนไขการรับประกันภัยที่รัดกุมต่อเนื่อง และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในส่วนของค่าสินไหมทดแทน น่าจะถูกชดเชยด้วยการปรับอัตราเบี้ยการรับประกันภัย

ระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง: จากการประมาณการระดับเงินกองทุนด้วยแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์นั้น เงินกองทุนของ THRE อยู่ในกลุ่มที่ “แข็งแกร่งมากที่สุด” (‘Extremely Strong’) ในปี 2566 และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของผลประกอบการ จากผลกระทบของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโควิท-19 ในปี 2566 และฟิทช์คาดว่าระดับเงินกองทุนของบริษัทจะคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2567

THRE มีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย (Risk-based capital ratio) ณ สิ้นเดือน กันยายน 2566 ที่ 338% ปรับตัวจาก 364% ณ สิ้น 2565 (2564: 275%) และสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ

โครงสร้างบริษัทที่แข็งแรง: ฟิทช์ประเมินโครงสร้างบริษัทของ THRE ที่ระดับแข็งแรง (Favorable) เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีบรรษัทภิบาลที่ดี เมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่นภายในประเทศไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ THRE เป็นบริษัทประกันภัยต่อรายเดียวในประเทศและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มั่นคงที่ระดับ 30%-40% ของเบี้ยประกันภัยต่อภายในประเทศ ถึงแม้บริษัทจะมีขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างเล็ก นอกจากนี้ บริษัทยังมีประเภทผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมทั้งความสามารถในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า

การเปลี่ยนแปลงการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น: บริษัทมีกลยุทธ์การลงทุนและบริหารสินทรัพย์ที่ระมัดระวัง แต่ฟิทช์เชื่อว่า THRE จะมีการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึง การลงทุนในหุ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีขึ้นในปี 2024 ทั้งนี้บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้มากกว่า 80% ของเงินลงทุนทั้งหมด และมีอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยง (risky asset ratio) อยู่ที่ระดับ 35% ณ สิ้นเดือน กันยายน 2566 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่หลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์ (criteria guideline) ได้กำหนดไว้สำหรับกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินระดับ ‘A’ ค่อนข้างมาก

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

– การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (Combined Ratio) ที่สูงกว่า 103% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

– การปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนที่วัดจากอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และการปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM มาอยู่ต่ำกว่าระดับบนของกลุ่ม “แข็งแกร่ง” (‘Strong’) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

– การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (Combined Ratio) ที่ต่ำกว่า 96% ในขณะที่สามารถรักษาอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on equity) ไว้ในระดับสูงกว่า 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

– บริษัทมีโครงสร้างบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจเชิงภูมิศาสตร์ (geographical diversification) ที่ดีขึ้น

– การรักษาไว้ซึ่งระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top