BOJ เมินส่งสัญญาณยุติดอกเบี้ยติดลบ ยันพร้อมเดินหน้าผ่อนคลายการเงินหากจำเป็น

นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการ BOJ ในวันนี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับคาดการณ์ว่า โอกาสที่เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% นั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน

นายอุเอดะยังกล่าวด้วยว่า BOJ จะจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินและตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อราคาและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น พร้อมกับย้ำว่า BOJ ไม่ลังเลที่จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปหากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น และ BOJ จะจับตาผลการเจรจาเกี่ยวกับค่าจ้างในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้อย่างใกล้ชิด

“เราคาดว่าแนวโน้มของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะค่อย ๆ มีผลกระทบต่อราคาขาย ซึ่งจะทำให้ราคาด้านการบริการค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นเช่นกัน หากเราพบหลักฐานว่าวงจรของค่าจ้างและเงินเฟ้อปรับตัวกว้างขึ้น เราจะทำการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่ที่เราใช้ในปัจจุบัน ตอนนี้เราไม่สามารถบอกได้อย่างเจาะจงว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เราคาดว่าเราจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่ปกติได้ ในกรณีที่เราปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน” นายอุเอดะกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ นายอุเอดะกล่าวว่า “โอกาสที่เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% นั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนั่นเป็นพัฒนาการที่เราพึงพอใจ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะพูดอย่างเจาะจงว่าเราจะถึงเป้าหมายดังกล่าวเมื่อใด”

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ “reference point” เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

คณะกรรมการ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสด สำหรับปีงบประมาณ 2567 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ระดับ 2.8% แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มดัชนี Core CPI สำหรับปีงบประมาณ 2568 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 1.7%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top