วิกฤตทะเลแดงเริ่มกระทบภาคเคมีภัณฑ์เยอรมนี

ภาคส่วนเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป เริ่มสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากการขนส่งที่ล่าช้าหลังเกิดวิกฤตในทะเลแดง ทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมล่าสุดที่ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับปัญหาติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้หลายบริษัทต้องควบคุมอัตราการผลิต

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การนำเข้าสินค้าที่สำคัญจากเอเชียไปยังยุโรปตั้งแต่ชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องมือทางวิศวกรรม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และของเล่น กำลังใช้เวลาขนส่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือโดยอ้อมทวีปแอฟริกา เพื่อหลีกเลี่ยงน่านน้ำทะเลแดงและคลองสุเอซ สืบเนื่องจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีในเยเมน

แม้ว่าอุตสาหกรรมของเยอรมนีจะคุ้นชินกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดจากผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน แต่ผลกระทบจากปริมาณการขนส่งที่ลดลงในทะเลแดงเริ่มแสดงผลแล้ว โดยโรงงานของเทสลาในกรุงเบอร์ลินเป็นผู้ที่ได้รับกระทบรายสำคัญจากเหตุการณ์นี้

ทั้งนี้ ภาคส่วนเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีนั้นพึ่งพาเอเชียในการนำเข้าจากนอกยุโรปราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด โดยภาคส่วนเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากรถยนต์และวิศวกรรม โดยมียอดขายต่อปีอยู่ที่ราว 2.6 แสนล้านยูโร (2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นางมาร์ตินา ไนท์สวอนเกอร์ ซีอีโอและเจ้าของบริษัท Gechem GmbH & Co KG ซึ่งเป็นบริษัทผสมและบรรจุเคมีภัณฑ์ใส่ภาชนะให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมกล่าวว่า บริษัทกำลังทบทวนระบบการทำงาน 3 กะและกล่าวเสริมว่า ผลพวงจากการขนส่งที่ลดลงอาจเป็นปัญหาไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เป็นอย่างน้อย ซึ่งนั่นทำให้เกิดการหารืออย่างตรงไปตรงมากับผู้บริโภค

“หากเราได้รับของปริมาณ 3 คันรถแทนที่จะเป็น 6 คันรถ ลูกค้าแต่ละรายจะได้รับสินค้าเพียงบางส่วนจากปริมาณทั้งหมดที่สั่งไว้ แต่อย่างน้อยทุกคนก็ได้อะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง” นางไนท์สวอนเกอร์กล่าว

ขณะเดียวกัน อีโวนิค (Evonik) บริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษรายใหญ่ระบุว่า บริษัทได้รับผลกระทบจาก “การแจ้งเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือและการเดินทางล่าช้าแบบกระชั้นชิด” และระบุเสริมว่า เรือบางลำต้องเปลี่ยนเส้นทางถึง 3 ครั้ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

นอกจากนี้ อีโวนิคยังกล่าวอีกว่า บริษัทจะพยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการสั่งซื้อล่วงหน้าและเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางอากาศซึ่งถือเป็นการชดเชยส่วนที่ขาดไป แต่ไม่อาจขนส่งทางอากาศได้ทั้งหมดเนื่องจากสารเคมีบางชนิดไม่ได้รับอนุญาตให้ขนส่งทางเครื่องบิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top