นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กดดันศก.ไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ “เศรษฐกิจไทย..เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม” ในงาน สัมมนาแฟล็กชิป ประจำปี 2024 ว่า เศรษฐกิจไทย ในช่วงโควิด-19 เติบโตเฉลี่ยแค่ 3% และหลังโควิด ก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่กลับพบว่าเศรษฐกิจไทยไม่สามารถกลับไปเติบโตได้เหมือนเดิม

โดยมองว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้ ความสามารถในการแข่งขันลดลง และมีการขาดดุลการค้า เช่น ต้องมีนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก รวมถึงการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น

นายพิพัฒน์ มองว่า ปัญหาสำคัญ คือ โครงสร้างประชากรกำลังลดลง ระดับรายได้ต่ำ แก่ก่อนรวย และคุณภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องคะแนน PISA ตกต่ำตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนในโครงการใหญ่ๆ หายไปเกือบ 3 ทศวรรรษ

“เหมือนกับไทยกำลังกินบุญเก่าอยู่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ถ้าเศรษฐกิจโตช้าไปเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น” นายพิพัฒน์ ระบุ

แนะเปิดกว้างกฏกติกาการทำธุรกิจ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านนายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองประเทศไทยว่า เปรียบเสมือนนักกีฬาสูงวัย ทั้งอายุและอาการ และความสามารถดึงดูดการแข่งขันน้อยลง แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ล้มหนัก เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังเข้มแข็ง รวมถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแบบช่วงต้มยำกุ้งไม่น่าจะเกิดขึ้น

นายสันติธาร มองว่า ในปัจจุบันขนาดของตลาดของไทยยังไม่ใหญ่ แต่สามารถช่วยภาคธุรกิจได้ ด้วยการปรับปรุงกฏกติกาในการทำธุรกิจให้เปิดกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่การกีโยตินกฏหมายเท่านั้น แต่ต้องเปิดให้คนหลากหลายกลุ่มมาช่วยกันคิดให้มากขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการลงทุน ต้องเน้นคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และพลังงานสะอาด เพราะโครงสร้างประชากรสูงวัยมากขึ้น

ทั้งนี้ จะต้องโฟกัสแต่ละปัญหาให้ถูกต้อง ต้องรู้ถึงความต้องการ และมีการวัดผลที่ชัดเจน ต้องรู้จักมองไกล และต้องรู้ทันโลกว่า ทิศทางโลกไปทางไหน เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนรวดเร็ว

ส่วนสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนนั้น นายสันติธาร กล่าวว่า การ Upskill และ Reskill และต้องตาม AI ให้ทัน น่าจะเป็นฐานทำให้เราไปข้างหน้าได้ และต้องมีคนที่เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จะสามารถสร้างคนในทุกๆ ภาคเศรษฐกิจ

“คนที่ชนะ คือ คนที่จับคลื่นใหญ่แล้วไปได้ไกลกว่า ถ้าเราจับ AI ได้ถูกทาง เราจะไปได้ไกลกว่า ปีนี้ยังมีโอกาส ถ้าเราขี่มังกรได้ ก็เปลี่ยนอะไรได้เยอะ” นายสันติธาร กล่าว

ไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง

ด้านนายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม กล่าวถึงความท้าทายโลกปัจจุบัน ว่า เราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ทำให้คนมีความรู้สึกเครียดมากขึ้น จนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา และคนรุ่นใหม่ๆ ตำแหน่งงานน้อยลง การแข่งขันสูงขึ้น อัตราฆ่าตัวตายระหว่างเรียนมากขึ้น

พร้อมมองว่า คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้เร็ว และเรียนรู้ได้กว้างมากขึ้น และมีความต้องการที่จะเข้าไปอยู่ระบบที่ช่วยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ การออกเสียงทางการเมือง

นายสราวุธ มองว่า สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน คือ ถ้าประเทศนี้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น เปิดโอกาสรับฟังสิ่งที่เสนอ ซึ่งอาจจะมีแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ ซึ่งอยากเห็นว่าหน้าตาประเทศเปลี่ยนไปอย่างไร และควรเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ที่รับฟังความเห็นมากขึ้น

“สังคมต้องการพื้นที่สนทนามากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราได้มีส่วนร่วมทุก ๆ ภาคส่วน ทำให้ประเทศมีความหวังมากขึ้น เพราะไทยไม่ได้มีคนเก่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ” นายสราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพได้ใช้ความสามารถของตัวเองให้มากที่สุด เพราะคนไทยที่เก่ง ๆ ยังมีอยู่อีกมาก แต่ที่ผ่านมา พบว่า มีคนอยากไปทำงานต่างประเทศ มากกว่าทำงานในไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ ระบบราชการและการศึกษาไทย ซึ่งความอุ้ยอ้ายของระบบ ทำให้คนอยากออกจากระบบราชการมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top