สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. และคณะ ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงและตอบข้อซักถามโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ได้เข้ายื่นญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
“มี สว.ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ 98 คน มี 7 ประเด็นที่จะยื่นอภิปรายที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชน โดยขอเวลาไว้รวม 2 วัน ส่วนจะมี สว.อภิปรายมากน้อยหรือไม่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ” นายเสรี กล่าวก่อนยื่นญัตติ
กรณีที่มีฝ่ายการเมืองระบุว่าอภิปรายรัฐบาลเร็วไป เพราะเพิ่งเข้ามาบริหารราชการได้เพียง 4 เดือนนั้น นายเสรี ยืนยันว่า การอภิปรายไม่ใช่การล้มรัฐบาลหรือให้ตอบการทำงานที่ล้มเหลว แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลควรทำตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และหาเสียงไว้กับประชาชน ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของ สว.ไม่ได้ยึดติดว่าใครเป็นนายกฯ ตนมองว่าการยื่นญัตติครั้งนี้ จะมีผลทางบวกในทางปฏิบัติของรัฐบาลที่จะทำงานเพื่อประชาชน
นายเสรี กล่าวว่า การยื่นญัตติฯ ได้พิจารณาในสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ส่วนที่ตั้งคำถามว่า สมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทำไมไม่ยื่นอภิปรายนั้น เพราะช่วง 4 ปีที่มาบริหาร ใน 3 ปีแรกได้แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งไม่พบประเด็นปัญหามาก แต่ปัจจุบันเห็นปัญหาเยอะ และเป็นสิ่งที่ต้องนำมาหารือในสภาฯ
สำหรับประเด็น สว.จะอภิปราย ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในประเด็นแหล่งเงิน จะเป็นภาระของประเทศหรือไม่ รวมถึงย้อนไปตั้งแต่ช่วงหาเสียงชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นสัญญาว่าจะให้หรือไม่ เมื่อได้ทำโครงการแล้ว มีช่องทางรั่วไหลหรือไม่
ทั้งนี้ ในความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อนโยบายดังกล่าว ตนมองว่าเหตุผลที่ให้มานั้น เป็นอันตรายกับบ้านเมือง
“รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าจะเป็นหนี้ 5 แสนล้าน หรือให้ประชาชนลงทุน มีงานทำ มีรายได้ยั่งยืน หากแจกของที่เป็นผลผลิต เช่น พืชไร่ เป็ด ไก่ สร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน ให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ดี มีหลายวิธี ไม่ใช่แจกเงินหมื่นบาท เพราะจะเกิดหนี้มหาศาล” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า ประเด็นกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา หากรัฐบาลไม่รักษาความเป็นธรรมให้มั่นคง เลือกปฏิบัติ หาช่องทางที่ได้ประโยชน์ให้กับบางคนบางกลุ่มที่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอนาน เป็นเรื่องปัจจุบันที่นำมาอภิปรายได้ โดยไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคล หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือต้องรอให้ครบกำหนดการรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องยึดหลักการในกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง ไม่ควรทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิบัติเท่าเทียม
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า จะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ประสานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าต้องการให้แถลงหรือชี้แจงในวัน-เวลาใด และใช้เวลาเท่าใด โดยวันนี้ จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของญัตติฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ส่วนการยื่นญัตติฯ ดังกล่าว จะถือเป็นผลงานส่งท้าย สว.ก่อนครบวาระหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ทุกคนสามารถชั่งน้ำหนักได้เอง ตนคงพูดไม่ได้ แต่เข้าใจในความประสงค์ของ สว.ที่ให้รัฐบาลแถลงการบริหารราชการแผ่นดินจะเกิดประโยชน์ จากการหารือเบื้องต้นจะใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ซึ่งจะประสานงานและพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่
“ผู้ยื่น ต้องการอภิปรายในเดือน ก.พ. และใช้เวลา 2 วัน ทั้งนี้ จะไปประสานงานร่วมกันกับ ครม. และพิจารณาว่าจะเหมาะสมหรือไม่ต่อไป” นายพรเพชร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)
Tags: รัฐธรรมนูญ, รัฐบาล, สมาชิกวุฒิสภา, สว., อภิปรายทั่วไป, เสรี สุวรรณภานนท์