ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวเกียวโดระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมระยะเวลา 2 วันซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันนี้และเสร็จสิ้นในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่า BOJ ต้องการประเมินความแข็งแกร่งของการปรับขึ้นค่าจ้างและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในพื้นที่ภาคกลางของญี่ปุ่นเมื่อวันปีใหม่ (1 ม.ค.)
นักลงทุนในตลาดการเงินกำลังจับตาการเจรจาค่าจ้างประจำปี หรือที่เรียกว่า “ชุนโต (Shunto)” ระหว่างฝ่ายบริหารและสหภาพแรงงานญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ BOJ เป็นธนาคารกลางรายสุดท้ายที่ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยการเจรจาค่าจ้างรายปีนั้น เป็นหนึ่งในเหตุผลที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ จะรอดูข้อมูลนี้จนถึงเดือนเม.ย. ก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550
ทางด้านนายเออิจิ มาเอดะ อดีตผู้อำนวยการบริหารของ BOJ คาดการณ์ว่า ผลการเจรจาค่าจ้างประจำปี หรือ จะนำไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้างราว 4% ซึ่งจะปูทางให้ BOJ ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ (มี.ค.-พ.ค.)
“มีความเป็นไปได้ที่ผลการเจรจาค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในปีนี้สูงขึ้นถึง 4% ซึ่งจะทำให้ BOJ สามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เนื่องจากกลไกการกำหนดราคาในเชิงบวกของ BOJ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเรามองว่าขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในวงจรที่เหมาะสมระหว่างค่าจ้างและเงินเฟ้อ” นายมาเอดะกล่าวกับผู้สื่อข่าว
นายมาเอดะคาดการณ์ว่า การเจรจาค่าจ้างในปีนี้ จะนำไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.58% โดยได้แรงหนุนจากการที่ภาคเอกชนสามารถทำกำไรได้สูงเป็นประวัติการณ์และจากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากขึ้น โดยหากค่าจ้างมีการปรับขึ้น 4% ตามที่นายมาเอดะคาดการณ์ ก็จะถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2535
ทั้งนี้ ผลการเจรจาเบื้องต้นจากสหภาพการค้าของญี่ปุ่น (Rengo) จะมีการประกาศในวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนการประชุม BOJ ในเดือนดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)
Tags: BOJ, ค่าจ้าง, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, อัตราดอกเบี้ย, แผ่นดินไหว