อนามัยโลกเรียกร้องผู้นำโลกเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคเอ็กซ์

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกร้องผู้นำโลกในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอ็กซ์ (Disease X) หรือโรคสมมติที่อาจเกิดการระบาดขึ้น และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ ขณะที่ในปัจจุบันโลกยังคงต้องรับมือกับผลกระทบที่เลวร้ายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โรค X หรือโรคที่เรายังไม่รู้จักนั้น อาจทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งหากเกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นอันตรายมากกว่าโรคโควิด-19 อย่างมาก โดยจะมีผู้ป่วยหนักมากกว่า 20 เท่าและไม่มีวัคซีนป้องกัน และอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพของทุกคน และต่อเสถียรภาพของโลก

WHO มีเหตุผลรองรับการเรียกร้องให้เตรียมพร้อมรับมือกับโรค X โดยย้อนหลังไปในปี 2558 กลุ่มที่ร่วมงานกับ WHO ตระหนักว่า โลกยังไม่มีความพร้อมในการรับมือหากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ดังนั้นพวกเขาจึงริเริ่มแผนการวิจัยและพัฒนาการดำเนินการเพื่อป้องกันโรคระบาด (R&D Blueprint for Action to Prevent Epidemics) ซึ่งแผนการดังกล่าวได้ระบุถึงเชื้อโรคบางชนิดที่อาจสร้างปัญหาอย่างมาก หากระบาดไปทั่วทุกที่

ในปี 2561 คณะกรรมการที่รับผิดชอบแผนการดังกล่าวได้เพิ่มโรคเอ็กซ์ในรายชื่อโรคร้ายที่อาจจะระบาดรุนแรง โดยมุ่งเป้าที่จะเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกจำกัดด้วยความรู้จากโรคที่รู้จัก และในเวลาเพียงสองปีต่อมา โลกได้เผชิญกับการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเท่ากับเป็นการทดสอบแผนรับมือกับการระบาดใหญ่

นายแพทย์ทีดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการของ WHO ได้เน้นย้ำว่า WHO กำลังใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของโรค X โดยมาตรการเหล่านั้นรวมถึงการจัดตั้งกองทุนโรคระบาด และการสร้างศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีในแอฟริกาใต้ เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีน

แม้ว่าบางคนอาจแย้งว่าการเตรียมตัวรับมือกับโรค X นั้นอาจสร้างความตื่นตระหนกได้ แต่นายแพทย์ทีดรอสเชื่อว่า เป็นการดีกว่าที่จะคาดการณ์ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นโดยอิงจากเหตุการณ์ในอดีต โดยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น มนุษยชาติเผชิญกับโรคระบาดจำนวนมาก และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น และเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคตด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top