นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการบริหารจัดการ การอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้แนวทางเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ทั้งในเรื่องพลุ ดอกไม้เพลิง และสถานที่เก็บวัตถุอันตราย ซึ่งวันนี้ มีหลายหน่วยงานมาร่วมประชุม และมีข้อสรุปการแก้ปัญหาที่จะบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในระยะหลัง พบว่ามีเหตุโรงงานพลุระเบิดเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว มี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศรวม ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงประกาศของทั้ง 5 กระทรวงหลัก
“ที่ประชุม มีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูประกาศ และจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อให้ส่วนรวมได้พิจารณาอีกครั้ง ว่าโรงงานประเภทที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายในการควบคุมของกระทรวงอุตสากรรม ก็ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปปรับร่างกฎหมายว่าจะควบคุมอย่างไรให้สอดคล้องความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้เวลา 7-10 วัน แล้วห้ส่งกลับมา เพื่อที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา” นายสมศักดิ์ กล่าว
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยานั้น ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทุกรายจะได้รับความช่วยเหลือ หลังจากได้รับใบมรณบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จ คือ การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งต้องใช้เวลา
“ที่ยังมีความล่าช้า คือการตรวจดีเอ็นเอ เพราะสภาพร่าง บางรายไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการตรวจดีเอ็นเอ เราก็อยากให้เร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องการชดเชย จึงได้เร่งรัดมา” นายสมศักดิ์ ระบุ
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่าย และสถานที่เก็บว่าต้องมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการกำกับดูแลต่างๆ เป็นไปตามประกาศตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งนายสมศักดิ์ ขอให้ไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั้ง 5 กระทรวง จะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมวันนี้
ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ปัจจุบันจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานที่มีคนงานเกิน 50 คน ซึ่งขณะนี้ในประเทศมีโรงงานผลิตพลุ และดอกไม้เพลิง เพียง 8 โรงงาน ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ ส่วนอีก 42 โรงงานไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น การจะเข้าไปตรวจสอบ ต้องร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าตรวจสอบทั้ง 42 โรงงานที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ควบคุมไม่ถึง
ขณะที่ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ในส่วนของกรมการปกครอง รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งพลุเป็นส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง
นอกจากนี้ ยังมีอนุบัญญัติเกี่ยวกับดอกเพลิงหลายฉบับ ที่กำหนดการจัดเก็บพลุ รวมถึงมีหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยได้กำชับไปยังนายอำเภอ ให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครอง มีผู้ขออนุญาต จำหน่าย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง 1,200 กว่าแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล
ส่วนโรงงานผลิตมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการไปยังนายอำเภอให้ออกไปตรวจตราตามอนุบัญญัติที่ออกตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมกับประกาศของ 5 กระทรวงข้างต้น ส่วนที่ต้องปรับปรุงต้องดูปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งจำนวนสารเคมี ระยะห่างจากชุมชนในสถานที่ตั้ง เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)
Tags: ดอกไม้เพลิง, พลุ, พลุระเบิด, สมศักดิ์ เทพสุทิน, เศรษฐา ทวีสิน, โรงงานพลุ