International SOS แนะวิธีรับมือ Blue Monday ความเหนื่อยล้าขั้นวิกฤตในที่ทำงาน

รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลกประจำปี 2567 ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Risk Outlook 2024) ชี้ภาวะหมดไฟ วิกฤตค่าครองชีพ และความกังวลด้านสุขภาพจิต ถือเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ สำหรับสุขภาวะของพนักงานในปีนี้ โดยสุขภาพจิตถือเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะหมดไฟและความยากลำบากทางการเงินสามารถแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ยังได้แนะนำวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟและความเหนื่อยล้าขั้นวิกฤตในที่ทำงาน ชี้อาการเกลียดวันจันทร์ (Blue Monday) ถือเป็นจุดที่ดิ่งสุดของภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว (Winter Blues) และยังป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากไปกว่านั้น เพราะการเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ทำให้คนเรามีความเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยความกังวลเกี่ยวกับภาวะหมดไฟและความเหนื่อยล้าขั้นวิกฤตของพนักงานทั่วโลกได้กระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ หันกลับมาทบทวนมาตรการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตขององค์กร พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนสุขภาพจิตเชิงรุกสำหรับพนักงาน ขณะที่ผู้คนมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างสุขภาวะของพนักงานกับความสำเร็จขององค์กร

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เน้นย้ำว่า ทั่วโลกต้องสูญเสียวันทำงานไปประมาณ 1.2 หมื่นล้านวันอันเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการผลิตคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี2

อัตราการเกิดภาวะหมดไฟของพนักงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในระยะเวลาเพียงแค่สองปี โดยอัตราดังกล่าวทะยานขึ้นจาก 11-18% สู่ระดับ 20-40% ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ยังรายงานด้วยว่าอัตราการเกิดภาวะหมดไฟนั้นสูงถึง 50% เลยทีเดียว1 นอกจากนี้ 80% ของผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความเสี่ยงทั่วโลกที่ตอบแบบสำรวจยังระบุด้วยว่า ภาวะหมดไฟของพนักงานเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งขององค์กรและพนักงาน1

นพ.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “การกลับมาทำงานหลังวันหยุดนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และสำหรับพนักงานจำนวนมากนั้น ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พนักงานไม่สามารถแบกรับความเหนื่อยล้า ความเครียดเรื้อรังและภาวะหมดไฟได้อีกต่อไป บางคนอาจจะยังคงเผชิญกับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงเทศกาล โดยเผชิญกับแรงกดดันด้านการเงินจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นภายหลังการฉลองวันหยุดยาว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นและวิกฤตการณ์ระดับโลกที่เกิดขึ้นอยู่นี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานรู้สึกกังวลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนสำหรับองค์กรที่พยายามส่งเสริมสุขภาวะและประสิทธิภาพให้กับการทำงานของพนักงาน”

“พนักงานต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะในที่ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ระลอกล่าสุด ความต้องการที่มีอยู่แล้วจึงต้องได้รับการตอบสนองอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นในขณะที่พนักงานรู้สึกหมดไฟและเหนื่อยล้าขั้นวิกฤต ดังนั้น อาการเกลียดวันจันทร์จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่จะหันมาประเมินและสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในที่ทำงาน เมื่อพนักงานรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือและมีความสามารถในการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง พนักงานก็มีแนวโน้มว่า จะมีส่วนร่วม มีสมาธิ และปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ตระหนักถึงเรื่องนี้และให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยต่อจิตสังคม (Psychosocial) ด้วยการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการความเครียดไปจนถึงการจัดตารางงานที่มีความยืดหยุ่น ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องและยังเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานอีกด้วย”

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อป้องกันภาวะหมดไฟและต่อสู้กับความเหนื่อยล้าขั้นวิกฤตในที่ทำงาน ดังนี้

  1. สร้างวัฒนธรรมการเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกและส่งเสริมการสื่อสารอย่างเปิดเผย: จัดให้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานในการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของตนเอง ตลอดจนสนับสนุนให้พนักงานกล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกเมื่อรู้สึกอัดอั้นตันใจหรือลำบากใจ
  2. มอบความยืดหยุ่นและส่งเสริมสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว: สนับสนุนการจัดตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้พนักงานสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ ตลอดจนส่งเสริมการหยุดพักอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้พนักงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะของตนเอง
  3. ลงทุนเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางอารมณ์: เปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกสติ และจัดฝึกอบรมด้านการจัดการความเครียด ตลอดจนร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ผ่านการรับรองเพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนแก่พนักงาน โดยรักษาความลับของพนักงานเป็นอย่างดี
  4. นำเสนอโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน: ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนพนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น บริการให้คำปรึกษาทางการเงินหรือการให้คำปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
  5. สนับสนุนให้ผู้จัดการเข้ารับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิต: เพิ่มทักษะให้ผู้จัดการสามารถระบุสัญญาณของความเครียดและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่พนักงานที่อาจกำลังประสบปัญหา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top