3 ค่ายรถจีน “ฉางอาน-SAIC-GWM” ลงนามรับสิทธิประโยชน์ประเดิม EV3.5

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3.5 ช่วงปี 2567-2570 ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทยนั้น ล่าสุด กรมสรรพสามิต ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) กับ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

นายเอกนิติ กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการ EV 3.5 เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และยังมีอีกหลายบริษัท ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมลงนามในข้อตกลงรับสิทธิ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 จะได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้

1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.1 สิทธิเงินอุดหนุน

1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่ไม่เกิน 50 kWh

– ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

– ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน

– ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน

2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป

– ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน

– ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน

– ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกิน 40% (สำหรับรถที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568)

1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ในปี 2567 – 2570

2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 0% ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษี 2% ในปี 2569 – 2570

4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 1% ในปี 2567 – 2570

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ กรมสรรพสามิต จึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 จะต้องทำการผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน)

พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.5 จะอยู่ที่ประมาณ 175,000 คัน ในปี 2567-2568 ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ประมาณ 350,000 – 525,000 คัน ภายในปี 2570 โดยมียอดประมาณการเงินอุดหนุนในมาตรการ EV 3.5 อยู่ที่ 34,060 ล้านบาท

“มาตรการ EV 3.5 จะช่วยส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการสร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”

นายเอกนิติ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top