“เผ่าภูมิ” ยก 6 เหตุผลฟาดแบงก์ชาติ! นโยบายการเงิน “ขัดขา” นโยบายการคลัง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาตอบโต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยก 6 เหตุผลที่ชี้ให้เห็นถึงการเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องเสนอออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ขัดต่อมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

1.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวติดลบต่อเนื่อง 14 เดือน ส่งสัญญาณอันตรายต่อภาคการผลิตของประเทศ ขณะที่ยอดขายรถเชิงพาณิชย์ (ปิคอัพ) ที่เป็นตัววัดสำคัญของการลงทุน หดตัวติดลบต่อเนื่องว 4 ไตรมาส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ผ่านมา เพิ่มภาระต้นทุนการเงินของเอกชน ซึ่งเป็นผลลบต่อการลงทุนในวงกว้าง

2.ขณะที่เอกชนต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นตัว แต่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ดูแลโดย ธปท. ล่าสุดหดตัวราว 0.9% yoy ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ดูแลโดยกระทรวงการคลัง โตราว 3.8% ในช่วงเดียวกัน สะท้อนให้ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลควรมีการปรับในเชิงนโยบายหรือไม่

3.งบประมาณปี 67 ล่าช้า เศรษฐกิจไร้แรงขับ รายจ่ายลงทุนต้นปีงบ 68 เดือน ต.ค.หดตัวติดลบ 45% และ พ.ย.ติดลบ 75% yoy หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปทุกเดือนจนสิ้นปีงบ 68 ธปท.เห็นความอันตรายของภาวะนี้หรือไม่ ควรมีการปรับนโยบายการเงินเพื่อช่วยเหลือในช่วงที่มาตรการทางการคลังติดขัดอย่างไร

4.ประมาณการเศรษฐกิจในปี 66 จากต้นปีสู่ปลายปี มีความคลาดเคลื่อนสูง โดยมีการประเมินความร้อนแรงของเศรษฐกิจสูงเกินจริง นำสู่นโยบายการเงินที่ไม่สะท้อนสภาวการณ์หรือไม่ และภาวะเงินเฟ้อติดลบหลุดกรอบต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินหรือไม่

5.นอกจากตัวเลขมหภาคแล้ว ยังต้องมองเศรษฐกิจภาคประชาชนด้วย รายได้ประชาชนโต 7.86% แต่รายจ่ายโต 12.7% ชี้ชัดเกิดภาวะรายจ่ายโตเร็วกว่ารายได้ นั่นคือหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แต่นโยบายการเงินที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซ้ำเติมหนี้สิน และความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่

6.นโยบายการคลังที่รัฐบาลดูแล กับนโยบายการเงินที่ ธปท.ดูแล ควรสอดประสานกันหรือไม่ ปัจจุบัน รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกดคันเร่งนโยบายการคลัง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในช่วงการกดเบรคหรือไม่ การขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรคพร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top