EU ขอข้อมูลเพิ่มจากบริษัทเทคโนโลยี 17 แห่ง ลุยสอบคอนเทนต์ผิดกฎหมาย

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งคำร้องเพื่อขอข้อมูล โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายบริการดิจิทัล (Digital Services Act หรือ DSA) ของสหภาพยุโรป ไปยังบริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่มาก (VLOP) และเสิร์ชเอนจินต่าง ๆ รวม 17 บริษัท

EC ระบุว่า ทางหน่วยงานได้ติดต่อไปยังอาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress), อะเมซอน สโตร์ (Amazon Store), แอปสโตร์ (AppStore) ของแอปเปิ้ล, บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com), เฟซบุ๊ก (Facebook), อินสตาแกรม (Instagram), กูเกิล เสิร์ช (Google Search), กูเกิล เพลย์ (Google Play), กูเกิล แมปส์ (Google Maps), กูเกิล ชอปปิง (Google Shopping), ลิงด์อิน (LinkedIn), บิง (Bing), พินเทอเรส (Pinterest) สแนปแชท (Snapchat), ติ๊กต๊อก (TikTok), ยูทูบ (YouTube) และซาแลนโด (Zalando)

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) ขอให้บริษัทต่าง ๆ จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 9 ก.พ. เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่บริษัทเหล่านี้นำมาใช้ เพื่อให้นักวิเคราะห์ได้เข้าถึงข้อมูลซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งของ EU เอง และของประเทศต่าง ๆ และยังมีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและสินค้าที่วางจำหน่ายบนโลกออนไลน์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กฎหมายบริการดิจิทัลที่ว่านี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งกำหนดให้บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่มากและเสิร์ชเอนจินเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสาธารณชน โดย EC ได้ประเดิมสอบสวนภายใต้กฎหมาย DSA ครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค. 2566 กับเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เพราะสงสัยว่ามีการละเมิดข้อผูกมัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top