ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก และเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค จนถูกเรียกว่าดีทรอยต์แห่งเอเชีย สะท้อนจากการที่ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ต่อปีมากถึง 1.88 ล้านคัน สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก โดยมีการส่งออกมากกว่า 50% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยกว่า 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 6% ต่อ GDP
ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก ทั้งในฝั่งอุปทานจากปัญหา Supply Chain Disruption อาทิ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องหยุดเดินสายการผลิตชั่วคราว ขณะที่ฝั่งอุปสงค์หดตัวรุนแรงจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อ และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2563 ลดลง 29%YoY หรือผลิตได้เพียง 1.4 ล้านคัน จากที่เคยผลิตได้สูงกว่า 2.0 ล้านคัน
อย่างไรก็ดี หลังจากปัญหาต่าง ๆ เริ่มทยอยคลี่คลายลง ภาคการผลิตรถยนต์ของไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากยอดการผลิตรถยนต์ปี 2565 ขยายตัว 11.7%YoY ขึ้นมาแตะระดับ 1.88 ล้านคัน และคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องในปี 2566 แบ่งเป็นยอดการผลิตเพื่อส่งออก 1.08 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 0.8 ล้านคัน
Krungthai COMPASS ประเมินว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2567 ยังเป็นปีของการฟื้นตัว โดยยอดการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2567 มีโอกาสขยายตัว 4.8%YoY ไปแตะที่ระดับ 1.97 ล้านคัน กลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) จาก 2 แรงขับเคลื่อนหลัก คือ
1. มาตรการ EV 3.0 เริ่มเห็นผลที่ชัดเจนแล้ว โดยค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมมาตรการฯ เริ่มเดินสายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะ 1 (EV 3.0) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2565
เบื้องต้น ประเมินว่าผลของมาตรการ EV 3.0 จะช่วยหนุนยอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 5-7 หมื่นคัน หรือคิดเป็น 3-4% ของยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2567 ซึ่ง Upside ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการ EV 3.5 ที่บังคับใช้ในช่วงปี 2567-2570 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดการผลิตรถยนต์ในระยะข้างหน้า
2. ยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต้องการใช้รถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ที่คาดว่าจะยังครองตลาดโลกไปอีกราว 6-7 ปี โดยคาดว่า ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของไทยในปี 2567 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.13-1.16 ล้านคัน หรือขยายตัวราว 4-8%YoY ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ ของปี 2567 จะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 8.05 แสนคัน ซึ่งเป็นผลกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ สืบเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนมาตรการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มเข้มงวดเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้
Trend การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในไทยเติบโตก้าวกระโดด
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ BEV ทั้งปี 2566 จะสูงแตะ 72,000 คัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 9% ของยอดจำหน่ายทั้งหมด และมีโอกาสเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 22.1% (ช่วงปี 2566-2575) ไปแตะระดับ 433,000 คัน ในปี 2575 หรือคิดเป็น 46% ของจำหน่ายทั้งหมด
สำหรับกระแสของรถยนต์ BEV ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น เป็นผลมาจาก
1) ราคาของรถยนต์ BEV อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น โดยมาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ จากแรงผลักดันของภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ, การแข่งขันสูงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลายค่ายรถจัดโปรโมชั่น และหันมาแข่งขันด้านราคา, ราคาแบตเตอรี่ มีแนวโน้มลดลงถึง 40% ภายในปี 2568
2) การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระยะทางที่วิ่งได้ไกลขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต รวมถึงการมีสถานีชาร์จไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่มีความพร้อมและครอบคลุมหลายพื้นที่มากขึ้น
3) ต้นทุนการใช้งาน (Cost of Ownership) ที่มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์ทั่วไป
ความท้าทายในอนาคต ที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องจับตา
1. ความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน (Transition risk) จากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ไทยจะมีการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 58 เพื่อยกระดับการควบคุมมลพิษทั้งจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จากเวทีการประชุม COP28 ที่อาจส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวมากขึ้น
2. ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยกว่า 10% มีความเสี่ยงจากการห้ามขายรถยนต์สันดาป ภายในของกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐฯ และจีน หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด แต่ในขณะเดียวกัน อาจเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่สามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV
3. ผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบทางตรงที่ชัดเจนขึ้นต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของไทย ไปยังอิสราเอลในเดือน พ.ย.66 ที่การส่งออกสินค้าดังกล่าว หดตัวถึง 98% (MoM) โดยมีมูลค่าเหลือเพียง 3.8 ล้านบาท และต้องระวังความเสี่ยงหากสงครามขยายวงกว้าง และรุนแรงมากขึ้น ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ ค่าระวางเรือมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 67)
Tags: krungthai COMPASS, ผลิตรถยนต์, ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์