กรมราง เล็งต่อเวลาค่าโดยสาร 20 บาทสายสีแดง-ม่วง/ขยายเพิ่มสายสีชมพู-เหลือง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า เป็นการสัมมนารับฟังความคิดเห็น พร้อมนำเสนอข้อสรุปการศึกษาครั้งสุดท้าย โดยจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือนก.พ. 2567 และนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

สำหรับผลการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ประกอบด้วย

1. ) อัตราค่าโดยสารระหว่างเมือง คำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง แบ่งได้ดังนี้

ชั้น 1 :

ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 1.165 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 1.066 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.981 บาทต่อ กม.

ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.924 บาทต่อ กม.

ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกิน 25% จากความพึงพอใจที่จะจ่าย

ชั้น 2 :

ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.610 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.525 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.469 บาทต่อ กม.

ระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 0.420 บาทต่อ กม.

ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะไม่เกิน 25% จากความพึงพอใจที่จะจ่าย และขึ้นค่าโดยสารเฉพาะตู้นอน

ชั้น 3 :

ระยะทาง 100 กม. แรก ราคา 0.269 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 101 – 200 กม. ราคา 0.255 บาทต่อ กม.

ระยะทาง 201 – 300 กม. ราคา 0.200 บาทต่อ กม.

ระยะทาง มากกว่า 300 กม. ราคา 0.181 บาทต่อ กม.

2.) อัตราค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT Standardization (MRT STD) ทั้งค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85) และการขึ้นค่าโดยสารจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค แบบไม่รวมอาหารละเครื่องดื่ม (CPI NFB) กรุงเทพฯ

3.) อัตราค่าโดยสารในเมือง ภูมิภาค 7 จังหวัด มีหลักเกณฑ์การคำนวณตาม MRT STD โดยใช้ CPI NFB รายจังหวัด คือ ค่าแรกเข้า (10.79 – 12.17 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) (1.94 – 2.19 บาทต่อ กม.) ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การคำนวณค่าโดยสารขั้นสูง คือ ค่าแรกเข้า + (อัตราค่าโดยสาร (บาท/กม.) x ระยะทางเปอร์เซนไทล์ที่ 85)

4.) อัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เมื่อพิจารณาต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะกำหนดค่าแรกเข้า (95 บาท) และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง (บาท/กม.) โดยระยะทาง 300 กม. แรก ราคา 1.97 บาทต่อ กม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. ราคา 1.70 บาทต่อ กม. ทั้งนี้ การขึ้นค่าโดยสารจะใช้ CPI NFB ทั่วประเทศ

เล็งขยายใช้มาตรการ 20 บาทสายสีแดง-ม่วงต่อ

ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม มีนโยบายลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น โดยปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน โดยจำนวนผู้โดยสารก่อนเริ่มมาตรการเปรียบเทียบหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย พบว่า มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสาร ในช่วงวันทำงาน และช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ และทำให้ประเมินตัวเลขที่รัฐต้องชดเชยรายได้ของทั้ง 2 สายที่ประมาณ 300 ล้านบาท/ ปี ก็จะลดลงไปด้วย

โดยกรมรางจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อรายงานต่อกระทรวงคมนาคม ตัดสินใจก่อน วันที่ 16 ต.ค. 2567 ที่จะครบ 1 ปี เพื่อให้นโยบายพิจารณาว่าจะใช้มาตรการ 20 บาทต่อไปหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่าในรอบปีต่อไป การชดเชยส่วนต่างรายได้จะลดลงจาก 300 ล้านบาท/ปี ตามสัดส่วนปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่งผ่านมา 3 เดือน หาก อีก 9 เดือน มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เช่น 25% ค่าชดเชยจะลดลง 25% เป็นต้น ซึ่งกรมรางจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาปรับปรุงระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกและกระตุ้นให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มคาดว่าจะเห็นผลในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ลุ้นขยาย 20 บาท “ชมพู-เหลือง”

ขณะที่กรมรางมีแนวคิดในการขยายมาตรการ ค่าโดยสาร 20 บาท กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่จำนวนผู้โดยสารอยู่ในระดับ 4-5 หมื่นคน ไม่มากเกินไป

โดยประเมินว่า รฟม.ยังสามารถนำรายได้ส่วนแบ่งจากสัมปทานสายสีน้ำเงิน มาชดเชยให้ สีเหลืองและสีชมพูได้ ซึ่งจะมีการหารือแนวทางกับกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์หน้า ส่วน สายสีน้ำเงินมีผู้โดยสาร เฉลี่ยกว่า 3 แสนคน/วัน สายสีเขียวมี 7-8 แสนคน/วัน ผู้โดยสารค่อนข้างมาก ดังนั้นการชดเชยอาจจะทำลำบาก

เสนอรัฐลงทุนระบบราง 100% เหมือนงบสร้าง-ซ่อม ถนน

ที่ผ่านมา ระบบรางมีการลงทุนแบบ PPP ทั้งแบบรัฐลงทุนโครงสร้างงานโยธา 70% เอกชนลงทุนระบบและเดินรถซ่อมบำรุง30% หรือให้เอกชนลงทุน 100% ซึ่งเอกชนจึงต้องบวกค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงไปที่ค่าโดยสาร ในขณะที่การขนส่งทางบก รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ก่อสร้างถนน ซ่อมบำรุง รวมไปถึงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอีก โดยช่วง 18 เดือน รัฐอุ้มดีเซลไปเป็นเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท

ดังนั้น ในระยะยาว การศึกษาของกรมรางจึงเห็นว่า ในโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆจากนี้ รัฐควรลงทุนระบบราง 100% เหมือนลงทุนถนน ที่รัฐจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงซึ่งจะเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost รัฐลงทุนหมด 100% แล้วจ้างเอกชนมาเดินรถ ซึ่งจะทำให้รัฐกำหนดค่าโดยสารได้ โดยหลังพ.ร.บ.ขนส่งทางราง…มีผลบังคบใช้ กรมรางจะเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา แต่ประเด็นคือ พอบอกให้รัฐลงทุนระบบราง ขนส่งมวลชนมีคำถาม แต่เวลารัฐจัดงบก่อสร้างถนนหรืออุ้มราคาน้ำมันดีเซลกลับไม่มีคำถาม เรื่องภาระงบประมาณ

ส่งร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง เสนอคมนาคมก.พ.นี้ เร่งชงครม.

นายพิเชฐ กล่าวว่า การจัดทำอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง จะเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. ….ที่ปัจจุบันพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. ….นั้นอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2567 โดยหลังปิดรับฟังความเห็น กรมฯจะทำบทวิเคราะห์ความเห็น และนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนก.พ. 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 ต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปลายปี 2567

สภาองค์กรผู้บริโภคแนะค่าโดยสาร 5-10% ของรายได้ เหมาะสมที่สุด

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในเวที เสวนา “โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง” ว่า รัฐควรกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 5-10% ของรายได้ขั้นต่ำและทำเป็นกลไกอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหลักสากลที่หลายประเทศใช้อีกทั้งไม่ต้องมีปัญหากับผู้ให้บริการ โดยไม่มีค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน มีเส้นทางครอบคลุมนอกจากนี้ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงระบบได้ใน 15 นาที หรือ 500 เมตร และมีความถี่ไม่เกิน 15 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วนและ ไม่เกิน 30 นาทีในช่วงนอกเร่งด่วน

ทั้งนี้ภาคประชาชนสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท โดยรัฐบาลทั่วโลกเป็นผู้ลงทุนขนส่งสาธารณะและไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนจ่ายค่าโดยสาร 100% โดยรัฐไม่อุดหนุน เพราะระบบขนส่งมวลชน จะเป็นคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดปัญหา PM2.5 ซึ่งในปี 2566 คนไทยป่วยไปโรงพยาบาลด้วยปัญหา PM2.5 ถึง 1.739 ล้านคน ซึ่วคิดเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณสุบ 1.20 หมื่นล้านบาท ประชาชนเสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาลและขาดรายได้ ราว 3,000-5,000 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top