นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 67 พบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา
– กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมีทั้งหมด 22 กลุ่ม ประกอบด้วย การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ปูนซีเมนต์, พลาสติก, เยื่อและกระดาษ, อัญมณีฯ, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, ดิจิทัล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ยา, รองเท้า, อาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องปรับอากาศฯ, ต่อเรือซ่อมเรือ, ผู้ผลิตไฟฟ้า, ยาง, โรงกลั่นน้ำมันฯ, เครื่องสำอาง, เทคโนโลยีชีวภาพ, พลังงานหมุนเวียน, ยานยนต์ และโรงเลื่อยและโรงอบไม้
– กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวมีทั้งหมด 11 กลุ่ม ประกอบด้วย เคมี, น้ำมันปาล์ม, หล่อโลหะ, เครื่องจักรเกษตร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, เหล็ก, เครื่องจักรกลฯ, ไม้อัด ไม้บาง, อลูมิเนียม, เครื่องนุ่มห่ม และ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะหดตัวลงมีทั้งหมด 13 กลุ่ม ประกอบด้วย ก๊าซ, ปิโตรเคมี, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, แกรนิตและหินอ่อน, เฟอร์นิเจอร์, หลังคาและอุปกรณ์, แก้วและกระจก, ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, หัตถกรรมสร้างสรรค์, เซรามิก, สมุนไพร, น้ำตาล และสิ่งทอ
ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรม 5 ภูมิภาคนั้น อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกคาดว่าจะขยายตัวได้ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคใต้ คาดว่าจะทรงตัว ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางคาดว่าจะหดตัวลง
โดยปัจจัยที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม ได้แก่
– อานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
– เป้าหมายการบรรลุความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา, ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงการเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู (EU) และไทย-กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ให้สำเร็จโดยเร็ว จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก
– ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราเหมาะสมทั้งผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า
– แนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC
– ผู้ประกอบการได้ลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกลง โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า
– ทิศทางราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากปัญหาขาดแคลนที่คลี่คลาย และมีการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ทดแทน
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรม ได้แก่
– ทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
– ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ยืดเยื้อกระทบต่อราคาพลังงานโลกเพิ่มขึ้น
– การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต
– ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
– ผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาตีตลาดลูกค้าในกลุ่มอาเซียน กระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
– ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM/NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า แนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นมาจากผลของฐานต่ำ เนื่องจากปีที่ผ่านมาในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ซึ่งในปี 2567 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้มาจากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัวได้ การลงทุนภาคเอกชนที่จะฟื้นตัวตาม ภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องผ่านมาตรการฟรีวีซ่า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ใหม่ๆ จากเป้าหมายการบรรลุ FTA ได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น และยังมีผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ ส.อ.ท.ยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญภายใต้ข้อเสนอ ส.อ.ท. ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การเร่งเจรจา FTA เช่น ไทย-EU และไทย-GCC การส่งเสริมการลงทุนและการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการ SME รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อเสริมสร้างรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป
“ปีนี้กังวลเรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุด เพราะทำท่าจะยืดเยื้อ และขยายวงกว้างออกไปจากเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมา ทั้งเรื่องโลจิสติกส์ ซัพพลายเชนจ์ ประเทศที่ผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ก็จะเอามาทุ่มตลาดส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศ” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งรัดการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เคยทำการศึกษาไว้ หลังผลประเมินทิศทางอุตสาหกรรมในปีนี้แล้วพบพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเพียงภูมิภาคเดียวของประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกและการค้าชายแดนให้เพิ่มขึ้น
“ผลประเมินที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าโครงการอีอีซีส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรเร่งผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคต่อไป โดยพิจารณาว่าแต่ละพื้นที่ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมใด แต่ต้องทำให้ครบวงจร” นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลชูนโยบายให้มีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมชายทะเลฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) การลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น การตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่มีประเทศในตะวันออกกลางให้ความสนใจมาลงทุน
ขณะที่การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในปัจจุบันมีมูลค่าสูงเฉียด 1 ล้านล้านบาท จึงเป็นช่องทางการค้าสำคัญที่รัฐบาลควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการค้าที่ใช้เงินตราในภูมิภาค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 67)
Tags: มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, อุตสาหกรรม, เกรียงไกร เธียรนุกูล, เศรษฐกิจไทย