รัฐบาลส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ แก้ปมเด็กเกิดน้อย

จากที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 20% อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ประเทศเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กที่ลดลงนั้น โดยจากการคาดการณ์ อีก 60 ปี ประชากรไทยจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 33 ล้านคน แบ่งเป็นวัย 0-14 ปี เหลือ 1 ล้านคน วัยทำงานเหลือ 14 ล้านคน วัยสูงอายุ เพิ่มเป็น 18 ล้านคน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการมีบุตร ในการตอบกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภาว่า ยอมรับว่าเรื่องค่านิยมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวหลากหลายมากขึ้น และการมีลูกไม่ได้เป็นเป้าหมายของชีวิต ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ด้านการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำมาปรับปรุงแก้ไขเป็นนโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว ได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาแล้ว จากนั้นจะมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติและจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพระยะ 5 ปีระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนจะมีคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ กำกับติดตามแผนปฏิบัติการ ของแต่ละกระทรวง และจะบูรณาการการทำหน้าที่ร่วมกัน แล้วรายงานความคืบหน้าสู่ครม.

“มั่นใจว่าเฉพาะกำลังของรัฐบาลที่มีอยู่สามารถที่จะให้ประชาชนมีลูกและสมบูรณ์พร้อมตั้งแต่อยู่ในท้อง หลังเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและการเกิด IVF หรือเด็กหลอดแก้วปีละ 10 ราย” นพ.ชลน่าน ระบุ

 

เตรียมเปิดเฟส 2 โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ มี.ค.นี้

ส่วนโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ หลังเปิดโครงการนำร่องไป 4 จังหวัดแล้ว ปัญหาที่พบคือ ประชาชนยังไม่ยืนยันตัวตนในระบบ ทำให้ผู้ที่เข้ารับบริการต้องเสียเวลาทำประวัติก่อนเข้าไปรับการรักษา ดังนั้นในการเปิดเฟสต่อไปใน 8 จังหวัดช่วงเดือน มี.ค.จะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว และรณรงค์ให้ประชาชนยืนยันตัวตนให้แล้วเสร็จก่อนการเข้ารับบริการ โดยไม่ต้องรอให้ป่วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจให้โครงการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ครอบคลุมทั่วประเทศในปลายปีนี้

“รัฐบาลจะขยายให้ครบทุกจังหวัดเพื่อทดสอบระบบเชื่อมโยง หากมีศักยภาพเชื่อมโยงจะสามารถเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนได้ ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีจะทำให้กำลังคนลดลง อย่างไรก็ดีการพัฒนาระบบต้องมีต่อไป เพื่อให้ระบบเสถียร ไม่มีปัญหาต่อการให้บริการ และอนาคตพร้อมจะรองรับทุกสิทธิการรักษา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับประกันสังคม” นพ.ชลน่าน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top