ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค. เพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 5 รับเศรษฐกิจฟื้น-การเมืองมีเสถียรภาพ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 62.0 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน พ.ย.ที่ 60.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.63

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในปี 2567 ภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้” นายธนวรรธน์ ระบุ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 58.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 71.3

ปัจจัยบวก ได้แก่

ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล

ปัจจัยลบ ได้แก่

ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ 1.ปัญหาสงครามอิสราเอล-ฮามาส, รัสเซีย-ยูเครน และความไม่สงบในทะเลแดง 2.สถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะมีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และ 3.ปัญหาการเลื่อนชำระตราสารหนี้ของหลายบริษัทในไทย ที่เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากหลายบริษัทมีการผิดนัดหรือเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้มากขึ้น จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน ซึ่งอาจะมีผลต่อมุมมองความมั่นคงในระบบการเงินไทย

 

  • เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย “วิกฤติ”

นายธนวรรธน์ ยังให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต จากเหตุผลสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ติดลบ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ หลังผ่านวิกฤติการณ์โควิดในปี 63 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน ประกอบกับอัตราการว่างงานของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง มีแค่ปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้ในบางบริษัทเท่านั้น ไม่ได้ลุกลามจนสั่นคลอนระบบการเงิน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในมุมมองทางวิชาการ จึงไม่เข้าเงื่อนไขของวิกฤติเศรษฐกิจ

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยเข้าสู่จุดสมดุล โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ซึ่งเหมาะสมกับประเทศที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน จะถือว่าประเทศไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ถือว่ามีเสถียรภาพทางการเงิน และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือนนั้น หากดูในภาพรวมตลอดทั้งปี 66 แล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหลายสำนักในปี 67 ก็ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ดังนั้นทิศทางดอกเบี้ยในปัจจุบัน จึงยังเอื้อต่อเป้าหมายเงินเฟ้อ ไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะขึ้น/ลง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการใช้นโยบายลดค่าครองชีพที่ช่วยเหลือในด้านราคาค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ที่รัฐบาลเข้ามา ดังนั้นการที่ราคาพลังงานลดลงมาจากการแทรกแซงกลไกราคาผ่านนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล ไม่ได้มาจากกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง จึงไม่ถือว่าเศรษฐกิจซึมตัวลงเพราะเงินเฟ้อติดลบ

 

  • เงินเฟ้อ Q1/67 อาจติดลบต่อจาก Q4/66 ชี้เป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิค

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังมีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายแทรกแซงกลไกราคาพลังงานต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อเป็นบวกได้ เช่น มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากโครงการ Easy E-receipt, ราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลแดงที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อระยะปานกลางปรับตัวสูงขึ้นได้

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) ยังมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ยังมีการฟื้นตัว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะสาเหตุของเงินฝืด

แต่หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง ธปท. อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงได้ และเป็นการทำให้ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ ซึ่ง ธปท.อาจมองจากสัญญาณเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่กระเตื้องขึ้น และหากธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มลดดอกเบี้ย ธปท. ก็สามารถพิจารณาลดดอกเบี้ยลงได้

“ถ้าเขาลดดอกเบี้ย เราสามารถพิจารณาลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น สัญญาณเศรษฐกิจจะชัดขึ้นว่า เศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ เงินเฟ้อแผ่วจริงหรือไม่” นายธนวรรธน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top