นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ว่า หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ เพราะในอดีตเคยทำมาแล้วและไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น หากมีความกังวลใจมากจนกระทั่งคิดว่าบริหารจัดการได้ยาก ก็สามารถนำทางเลือกนี้เข้ามาใช้ได้เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือมีหุ้นกู้อะไรบ้างที่ฐานะไม่ดีจริง ๆ นั่นคือประเด็นสำคัญ เพื่อแยกแยะหุ้นกู้ที่ดีกับหุ้นกู้ที่มีปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งมองว่ามีหุ้นกู้ที่มีปัญหาบ้างแต่น่าจะบริหารจัดการได้ เพราะบริษัทที่จะออกหุ้นกู้ได้มีไม่มาก แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีฐานะการเงินที่ดีมากเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยน่ากังวลใจ ดังนั้นหุ้นกู้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหา
ขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่ออกหุ้นกู้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ขายให้คนทั่วไปเป็นการขายให้นักลงทุนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเคยปัญหาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาผ่านการแก้ไขปัญหาได้ โดยคุยกับเจ้าหนี้และ Roll Over 2 ปีเพื่อให้ผ่านช่วงคับขันไปได้
หากพิจารณาเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่จะฟื้นตัวจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งสถาบันการเงินก็มีหน้าที่พยุงอีก 12 เดือน เพื่อไปสู่ช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้นความกังวลใจจะค่อย ๆ หายไป ซึ่งจะเหลือบริษัทที่มีปัญหาจริงๆ อาทิ กรณี STARK ซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ JKN ซึ่งเป็นปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้นปัญหาหุ้นกู้ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งระบบ แต่เป็นปัญหาที่บริหารจัดการได้
“ถ้าเป็นบริษัทที่สามารถออกหุ้นกู้ได้ และเป็นลูกค้าของธนาคาร แต่ตัดสินใจออกหุ้นกู้เพื่อจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคาร พอเกิดปัญหาธนาคารก็จะเข้ามาช่วยอยู่ดี เนื่องจากเป็นลูกค้าซึ่งต้องพิจารณาว่ามีโอกาสแค่ไหน อนาคตเป็นอย่างไร ถ้าคิดว่าผ่านช่วง 12 เดือนไปได้แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นธนาคารก็พร้อมช่วย”
นายกอบศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 67)
Tags: FETCO, กอบศักดิ์ ภูตระกูล, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, หุ้นกู้