สถาบันอนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ได้มีคำตัดสินให้ บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) ต้องจ่ายเงินต้นของหุ้นกู้ จำนวน 50 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระ ให้แก่ Advance Opportunities Fund (AO Fund) และ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1)
ทั้งนี้ AO Fund และ AO Fund 1 ได้ยื่นคำร้องว่าบริษัทฯ ผิดสัญญาการจ่ายชำระค่าธรรมเนียมในการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยให้บริษัท จ่ายชำระค่าธรรมเนียมออกหุ้นกู้ 7.5 ล้านบาท ซึ่งคิดจาก 5% ของจำนวนเงิน 150 ล้านบาท และให้จ่ายชำระคืนหุ้นกู้แปลงสภาพ 50 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย 5% ต่อปี
CMO ระบุว่า บริษัทฯ ได้รับเงินจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพชุดที่ 1 จำนวน 50 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดจำนวน 150 ล้านบาท ดังนั้นค่าธรรมเนียม 5% จึงควรเรียกชำระเพียง 2.5 ล้านบาท บริษัทฯ จึงได้แต่งตั้งทนายยื่นคำให้การคัดค้านต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ โดยยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมทั้งจำนวนจากบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม อนุญาโตตุลาการฯ ตัดสินให้
– บริษัทฯ จะต้องชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ 20 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระ 1.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ ถึงวันที่ 11 เม.ย.66 ที่บริษัทจะต้องชำระให้กับ AOF
– บริษัทฯ จะต้องชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ 30 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระ 1.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ ถึงวันที่ 11 เม.ย.66 ที่บริษัทจะต้องชำระให้กับ AOF I
– บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 5% ต่อปี จากมูลค่าเงินต้น 20 ล้านบาท โดยเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.65 ซึ่งถือเป็นวันผิดนัด จนถึงวันที่ AOF ได้รับเงิน 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระจากบริษัทฯ
– บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 5% ต่อปี จากมูลค่าเงินต้น 30 ล้านบาท โดยเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.65 ซึ่งถือเป็นวันผิดนัด จนถึงวันที่ AOF ได้รับเงิน 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระจากบริษัทฯ
– บริษัทฯ จะต้องชำระค่าธรรมเนียม (Administrative Fee) จำนวน 7.5 ล้านบาท ให้กับ ACP
ในส่วนที่บริษัทฯ ฟ้องแย้งและเรียกร้องไปนั้น สถาบันอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินให้ยกคำขอทั้งหมด
ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายภายนอกของบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด ได้ให้ความเห็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายในกรณีนี้ว่า “ในกรณีอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้บริษัทฯ ต้องชำระเงินให้แก่กองทุน AOF และ AOF 1 แล้ว กองทุน AOF และ AOF 1 ต้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศดังกล่าวต่อศาลไทยเพื่อมีคำพิพากษา จึงจะบังคับให้บริษัทฯ ต้องชำระเงินตามคำตัดสินได้ บริษัทฯ จึงยังไม่ต้องชำระคืนเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการประเทศสิงค์โปร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 67)
Tags: CMO, ซีเอ็มโอ, สิงคโปร์