นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคมีแมน (CMAN) ลงนามใน “ข้อตกลง Khimsar” กับ Khimsar Mine Corporation (KMC) ซึ่งเป็นบริษัทอินเดียที่ถือหุ้นโดย Mr. Dhananjai Singh และครอบครัว เพื่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ในเมือง Khimsar รัฐราชสถาน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรองมากกว่า 70% ของปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรอง ทั้งหมดในประเทศอินเดีย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ CMAN ค้นหาธุรกิจที่เหมาะสมในพื้นที่นี้มาเป็นระยะเวลานาน
สำหรับ Mr. Dhananjai Singh และครอบครัว เป็นเจ้าของเหมืองหินปูนหลายแห่งใน Khimsar มีความต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ที่มีอยู่ และพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากการเป็นผู้จำหน่ายหินปูนไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย
ภายใต้ข้อตกลง Khimsar ดังกล่าว ในช่วงแรก CMAN จะเข้าไปออกแบบโรงงานและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ควบคุมงานก่อสร้าง และการจัดหาซัพพลายเออร์สำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามกำหนด จากนั้น CMAN จะเข้าไปดูแลด้านการขาย และบริหารจัดการเชิงเทคนิคให้กับโรงงานผลิตปูนไลม์แห่งใหม่นี้ต่อไป
ทั้งนี้ เฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์ที่มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี และ KMC มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นมากกว่า 5 แสนตันต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโต 6-8% ต่อปี ทำจะให้อุตสาหกรรมหลัก ทั้งเหล็กและเหล็กกล้า การก่อสร้าง น้ำตาล กระดาษ และสารเคมีและเคมีต่อเนื่อง มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการปูนไลม์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญในการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตตามอย่างมาก
“CMAN รู้สึกยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรระยะยาวกับ KMC ในการพัฒนาธุรกิจปูนไลม์ ความร่วมมือระหว่าง CMAN ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีประสบการณ์ด้านการขายและเชี่ยวชาญเทคนิคเชิงลึกในอุตสาหกรรมปูนไลม์ และ KMC ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่หินปูนและฐานลูกค้าในพื้นที่ จะสร้างจุดแข็งและข้อได้เปรียบให้ KMC บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้” นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ กล่าว
Mr. Dhananjai Singh กล่าวว่า CMAN และ KMC จะทำให้โรงงานผลิตปูนไลม์แห่งใหม่นี้เป็นหนึ่งในโรงงานที่ดีที่สุดในอินเดีย ทั้งด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย โรงงานผลิตปูนไลม์จะตั้งอยู่ใกล้กับเหมืองหินปูนเคมีหลายแห่ง ภายในระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย ทำให้ KMC มีความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต
โรงงานผลิตปูนไลม์แห่งแรกของ KMC มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังของปี 68 โดยโรงงานจะถูกออกแบบเป็นอาคารสีเขียวตามมาตรฐานระดับสากลที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และเป็นเสาหลักของธุรกิจปูนไลม์ในเมือง Khimsar รัฐราชสถานต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 67)
Tags: CMAN, อดิศักดิ์ เหล่าจันทร์, เคมีแมน