7 ประเด็นรัฐบาลต้องเคลียร์ หลังสว.ชิงยื่นซักฟอก พุ่งเป้าประเด็นศก.-กระบวนการยุติธรรม

จากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (สว.) มีมติให้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ หลังรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงได้นโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 66 และบริหรราชการแผ่นดิน 4 เดือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายที่แถลง รวมถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแถลงนโยบาย ดังนี้

1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม, สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน, การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง, การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร

3.ปัญหาด้านพลังงาน อาทิ การจัดการราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ปัญหากลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมืองส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.ปัญหาการศึกษาและสังคม อาทิ การปฏิรูปการศึกษาผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู, การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ,ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

5.ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว อาทิ ปัญหาจีนเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัฐบาล, มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

6.ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวที่ต้องอธิบายการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

7.ปัญหาการปฏิรูปประเทศ แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

“ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยทันที เพราะส่งผลต่อการขับเคลื่อน ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงบรรลุเป้าหมายให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่ม” ญัตติฯ ระบุ

สำหรับการเข้าชื่อของ สว.เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ต้องใช้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 หรือ 84 คนตามที่กฎหมายกำหนด ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น.มีผู้ลงชื่อแล้ว 55 คน โดยมีทั้ง สว.สายพลเรือนและสายทหาร

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top