กทม. ยันผังเมืองรวมไม่เอื้อประโยชน์นายทุน ขยายเวลารับความเห็นถึงสิ้น ก.พ.67

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือกับประชาชน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 7 ครั้ง

พร้อมกันนี้ ได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 โดยขยายระยะเวลาการยื่นหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 66 – 29 ก.พ. 67 (เดิมสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 22 ม.ค. 67)

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เนื่องจากเมืองมีการพัฒนา ฟื้นตัว และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโยบายหลักที่อยากทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เมืองที่ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ฯลฯ การปรับผังเมือง จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำสิ่งที่เราอยากให้มี บรรจุไว้ในผังเมืองใหม่

พร้อมยืนยันว่า การจัดทำผังเมืองรวมนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนกลุ่มใด หากมีการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับผังสี จะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สำหรับผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ในปัจจุบันได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติ จะมีการปรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน/การปรับผังเมืองใหม่ ทุก 5 ปี ซึ่ง กทม. โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในปี 2560-2562 เพื่อวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

ต่อมาในปี 2562 ได้มี พ.ร.บ.การผังเมืองใหม่ ซึ่งกำหนดให้ผังเมืองรวม มีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผัง เป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท, แผนผังแสดงที่โล่ง, แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง, แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ, แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ให้มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับการวาง และจัดทำผังเมืองรวม ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ประกอบด้วย 18 ขั้นตอน ดังนี้

1. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม

2. จัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

3.วางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

4. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม

5. ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

6. ประมวลผลความคิดเห็นของประชาชน และนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม

7. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม

8. กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม

9. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ให้ความเห็นชอบต่อร่างผังเมืองรวม

10. ปิดประกาศ 90 วัน และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดของผังเมืองรวม

11. รวบรวมคำร้อง และจัดทำความเห็นประกอบคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย

12. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย

13. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด พิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย

14. กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ความเห็นต่อการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย

15. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด แจ้งผลการพิจารณาคำร้องให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ

16. แก้ไขปรับปรุงร่างผังเมืองรวม ตามมติคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด

17. ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม

18. ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top