สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนพ.ย.66 มีมติเห็นชอบในหลักการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ระดับปริญญาตรี จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท/เดือน และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท โดยจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยเฉลี่ยจะปรับ 10% ต่อปี (เริ่ม 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง “ผลกระทบของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย” ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน้อยมาก เนื่องจากจำนวนบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลจากนโยบายมีสัดส่วนเพียง 4.7% ของลูกจ้างชาวไทยทั้งหมด ประกอบกับหน่วยงานราชการภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ดังนั้น การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังค่าบริการของภาครัฐจึงทำได้จำกัด
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในปี 2558 ซึ่งมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน ก็มิได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และจะส่งผลให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของบุคลากรเหล่านี้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบราชการไทยต่อไป
ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า นโยบายการปรับอัตราเงินเดือนของกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และอุปสงค์ ที่จะผ่านมาถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยหน่วยงานราชการเป็นสถานประกอบการที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ต้นทุนหรืองบประมาณรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน
เหตุผลดังกล่าว จึงเป็นข้อจำกัดในการขึ้นค่าบริการของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะส่งผ่านมายังภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แม้กลุ่มบุคลากรภาครัฐที่คาดว่าจะได้รับผลจากนโยบาย จะมีสัดส่วนประมาณ 27.8% ของบุคลากรภาครัฐทั้งหมด
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบจำนวนข้าราชการที่คาดว่าจะได้รับผลจากนโยบาย กับผู้มีรายได้กลุ่มอื่น พบว่ามีสัดส่วนเพียงประมาณ 4.7% เมื่อเทียบกับจำนวนลูกจ้างชาวไทย และ 2.2% เมื่อเทียบกับผู้มีงานทำชาวไทย (อาทิ นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทำงานส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง) ทั้งหมด ทำให้ขนาดกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำมาก หากเทียบกับกำลังซื้อของลูกจ้างหรือผู้มีงานทำกลุ่มอื่น ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้นตามผลการดำเนินงาน ระยะเวลาการทำงาน ทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์
ด้วยเหตุผลข้างต้น กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จึงไม่น่าส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและบริการ และอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาที่มีนโยบายปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น มากกว่าผลของนโยบายปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ อาทิ การดำเนินมาตรการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 ซึ่งรัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง รวมถึงปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการโดยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 4% ในพนักงานราชการบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 กลับลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องด้วยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกในประเทศลดลง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิที่ไม่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังเรื่องการฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการที่ไม่สมเหตุผล รวมถึงจะต้องติดตามสถานการณ์การปรับขึ้นค่าบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมสถาบันการศึกษาของเอกชน ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าการตรวจรักษาสถานพยาบาลเอกชน อย่างใกล้ชิดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 67)
Tags: ครม., ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, เงินเดือนข้าราชการ