“ธีระชัย” แนะ รมว.พลังงาน จัดลำดับสิทธิใช้ก๊าซอ่าวไทยใหม่ตัดต้นทุนนำเข้ากดราคา LPG ภาคครัวเรือนลง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เรียกร้องให้พิจารณาจัดสรรก๊าซธรรมชาติผลิตจากอ่าวไทยให้เป็นธรรมแก่ประชาชน และให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลได้จัดให้มีการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 และ G2/61 ในระบบแบ่งปันผลผลิต มีผลทำให้ปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 และ 1305

นายธีระชัย ระบุว่า ปิโตรเลียมจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในระบบสัมปทานนั้น พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 56 บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ จึงไม่มีประเด็นว่าปิโตรเลียมที่ผลิตมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

แต่ในระบบแบ่งปันผลผลิตตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 หมวด 3/1 สัญญาแบ่งปันผลผลิต นั้น ผลผลิตปิโตรเลียมที่รัฐได้รับเป็นส่วนแบ่งย่อมมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินชัดเจน แต่ผลผลิตที่เป็นส่วนแบ่งของผู้รับสัญญานั้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 ข้อ 6 การจัดการผลผลิตน้ำมันดิบ และ ข้อ 7 การจัดการผลผลิตก๊าซธรรมชาติ วิธีปฏิบัติที่ระบุไว้ ทำให้ผลผลิตปิโตรเลียมที่เป็นส่วนแบ่งของผู้รับสัญญาฯ มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ด้วย

ดังนั้น จึงเห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการผลผลิตปิโตรเลียมจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้งหมด ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

ขณะที่ การจัดลำดับสิทธิการใช้ประโยชน์ผลผลิตปิโตรเลียมจากอ่าวไทยนั้น ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยมีราคาต่ำกว่าก๊าซธรรมชาตินำเข้า และเมื่อนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไปแยกเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) ก็จะมีราคาต่ำกว่า LPG ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก

แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ประโยชน์ดังกล่าวแก่ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม จำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน เพราะขณะนี้ ประชาชนชาวไทยกำลังเดือดร้อนอย่างหนักเรื่องค่าครองชีพราคาพลังงาน

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดราคาขาย LPG แก่ภาคครัวเรือน โดยอ้างอิงราคาสมมุติว่านำเข้า LPG บวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ทั้งที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่ส่งเข้าไปยังโรงแยกก๊าซในไทยสามารถผลิต LPG ได้มากถึงปีละประมาณ 2.9 ล้านตัน เกินพอปริมาณที่ครัวเรือนใช้ประมาณปีละ 2 ล้านตันอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะไปกำหนดให้ประชาชนต้องเดือดร้อนโดยนำเอาราคา LPG นำเข้าที่แพงกว่ามากเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดราคาขายให้แก่ประชาชน

รัฐบาลควรเปลี่ยนแปลงการจัดลำดับสิทธิการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติผลิตจากอ่าวไทยให้ประชาชนรายย่อยก่อนผู้อื่น จึงเห็นว่ารมว.พลังงาน ควรเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แก้ไขการจัดลำดับสิทธิการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยใหม่ทันที

โดยลำดับ 1 จะต้องจัดสรร LPG ที่ผลิตในโรงแยกก๊าซในไทยให้แก่ครัวเรือนเป็นลำดับแรก คิดต้นทุนตามราคาก๊าซจากอ่าวไทย ไม่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า LPG เพื่อช่วยลดราคา LPG ลงทันที และจะช่วยแก้ปัญหาที่รัฐบาลต้องชดเชยเงินเป็นประจำทุกวันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคา LPG อีกด้วย

ลำดับที่ 2 ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติที่เหลือ และก๊าซสำเร็จรูปที่เกิดจากการแยกที่เหลือ ให้เป็นสิทธิของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยคิดต้นทุนตามราคาก๊าซจากอ่าวไทย ไม่เกี่ยวข้องกับ LPG นำเข้า เพื่อจะลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.

ลำดับที่ 3 จึงค่อยให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติที่เหลือแก่ภาคปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าเอกชนต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top