ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ในปี 2566 ลงเหลือ 2.5% จากที่เคยประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนต.ค.66 ที่ระดับ 3% โดยมีสาเหตุสำคัญจาก GDP ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้, จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด, แรงขับเคลื่อนทางการคลังที่ลดลง จากผลของการที่ยังไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จึงทำให้การใช้จ่ายในส่วนของการอุปโภค-บริโภค และการลงทุนภาครัฐยังไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ระดับสินค้าคงคลังยังลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการผลิตยังไม่มีความมั่นใจว่าถ้าผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาแล้ว จะสามารถจำหน่ายได้หรือไม่ จึงชะลอการผลิตและนำสินค้าในสต็อกเดิมที่มีอยู่ออกมาจำหน่าย โดยยังไม่ผลิตเพิ่ม
พร้อมคาดการณ์ว่า การส่งออกไทยในปี 66 จะอยู่ที่ -0.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.3% หนี้ครัวเรือน อยู่ที่ 89.8% ต่อ GDP และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ในปี 66 ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เช่น การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนยังเติบโต การส่งออก ในช่วงไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้
“การบริโภคภาคเอกชน เป็นพระเอกสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 66 และได้การส่งออกที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงปลายปี” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ระบุ
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.2% (ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) การส่งออก พลิกกลับมาโต 3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 2% หนี้ครัวเรือน ลดลงมาอยู่ที่ 87.8% ต่อ GDP และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน
โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคการท่องเที่ยว, การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี, การลงทุนภาคเอกชน ยังฟื้นตัวได้ดี, การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวเป็นบวก, อัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณชะลอตัว และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 67)
Tags: GDP, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย