ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์การประกอบธุรกิจ บจ.ต้องไม่มีลักษณะเป็น investment company

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน โดยกำหนดให้การประกอบธุรกิจของบริษัทที่ออกหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนไม่มีลักษณะเป็นการบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน โดยประกาศมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีมติเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ออกหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนที่อาจเข้าข่ายเป็น investment company และไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เพื่อป้องกันการใช้ช่องทางการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการจัดการเงินลงทุน (regulatory arbitrage) โดย ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) กำหนดลักษณะ investment company ให้ชัดเจน โดยหมายถึงบริษัทที่มีการลงทุนในลักษณะที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล รวมกันเกินกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวมตามงบการเงินหรืองบการเงินรวมงวดล่าสุด ยกเว้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะตามข้อ (1) ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในหมายเหตุประกอบงบการเงินจนถึงงวดที่มีสัดส่วนการลงทุนต่ำกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวม

(3) กรณีบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะเป็น investment company ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมายซึ่งบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ทุกประเภทตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ การออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 67)

Tags:
Back to Top