นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและทดลองเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ถึง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) กล่าวว่า ตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีความห่วงใยและได้มอบหมายให้ตนติดตามการดำเนินงานรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายหลังเกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ในวันนี้ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและทดลองเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เพื่อติดตามและตรวจสอบความเรียบร้อยในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเร่งติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
หลังจากทดลองการเดินรถในวันนี้ ทางบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการปรับรูปแบบการเดินรถในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01)ถึง สถานีกรมชลประทาน (PK05)โดยจะเปิดเดินรถแบบวิ่งไป-กลับทางเดียวก่อน (Shuttle) ส่วนสถานีอื่นๆ จะเปิดใช้งานทางรถไฟฟ้าได้ทั้งสองฝั่งตามปกติ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปปลายทางสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และปลายทางสถานีมีนบุรี (PK30) จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีกรมชลประทาน (PK05) โดยใช้ชานชาลาที่ 1 พร้อมกันนี้ ทางบริษัทผู้รับสัมปทาน NBM ได้ดำเนินการเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกับ ขร. รฟม. และ NBM มีความเห็นร่วมกันว่า จะขยายระยะเวลาการเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากเดิม 2 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 6 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มกราคม 2567 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่สถานีกรมชลประทาน (PK05) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) และยกเว้นการเก็บค่าโดยสารในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) จำนวน 4 สถานีจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขรางจ่ายไฟแล้วเสร็จ โดยระหว่างนี้จะลดอัตราค่าโดยสารลง 15% จากอัตราปกติ ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 13-38 บาท เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ
สำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยจะแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 66)
Tags: รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีชมพู, สุรพงษ์ ปิยะโชติ