บริษัท PwC ประเทศไทย รายงานผลสำรวจพบความเสี่ยงทางไซเบอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัญหาสำคัญสำหรับธุรกิจและผู้นำด้านความเสี่ยงในปี 2566 แม้ว่า 60% ของผู้บริหารจะมองว่าเทคโนโลยีเอไอแบบรู้สร้าง (generative AI: GenAI) เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจของตนก็ตาม
ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2566 (Global Risk Survey 2023) ของ PwC รวบรวมความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจและความเสี่ยงจำนวนมากกว่า 3,900 ราย ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การปฏิบัติงาน การเงิน ความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน โดยผลจากการสำรวจพบว่า 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รู้สึกกังวล “สูง” หรือ “สูงอย่างมาก” ต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่ความเสี่ยงทางไซเบอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ก็ถือเป็นความกังวลอันดับต้น ๆ ที่ 37% และ 32% ตามลำดับ
การสำรวจยังพบด้วยว่า ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ มองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น GenAI การเรียนรู้ของเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และระบบคลาวด์ เพื่อปลดล็อกคุณค่าและเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานภายในองค์กร เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบความเสี่ยงของตนอีกด้วย
นาย แซม สัมมาราตุงคะ หัวหน้าสายงานด้านความเสี่ยงประจำสหราชอาณาจักรและระดับโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เป็นที่แน่ชัดว่าองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเข้ามาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์และดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่คำนึงถึงเป็นอันดับแรกในปี 2566 โดยผู้นำที่มีหน้าที่ในการจัดการความเสี่ยงจัดอันดับให้ความเสี่ยงทางไซเบอร์สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี การสำรวจยังเน้นย้ำว่าหากองค์กรไม่กล้าที่จะเสี่ยง พวกเขาก็จะไม่ก้าวหน้า ดังนั้น หากต้องการที่จะเติบโต สร้างความยืดหยุ่น และมองเห็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว องค์กรควรต้องปฏิบัติตนให้เป็น “ผู้บุกเบิกความเสี่ยง” หรือ “Risk Pioneers” ซึ่งก็คือ การเป็นองค์กรที่มีแนวทางเชิงรุกต่อความเสี่ยง มีกลยุทธ์ความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร และมีระดับการยอมรับความเสี่ยงที่สอดคล้องระหว่างทีมอย่างเข้มแข็ง
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนวาระความเสี่ยงภายในธุรกิจ โดย 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจว่า การเตรียมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ระบบคลาวด์ไปจนถึงเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น GenAI ถือเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่สุดเพียงประการเดียวสำหรับองค์กรในการทบทวนภูมิทัศน์ความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าองค์กรที่ถูกกระตุ้นให้เข้ารับการตรวจสอบโดยเหตุการณ์ความเสี่ยง (50%) หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ (46%) สำหรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานแบบดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ (technology disruptor) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณค่ามากกว่าป้องกันคุณค่านั้น ยังมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานแบบดั้งเดิมด้วยปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่มิใช่เทคโนโลยี ยกตัวอย่าง เช่น 60% มองว่า GenAI เป็นโอกาส เมื่อเทียบกับเพียง 35% ที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเป็นโอกาส หรือ 28% ที่มองว่า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเป็นโอกาส
“ผู้บุกเบิกความเสี่ยง” ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรที่มีผลการดำเนินงานอันดับต้น ๆ หรือคิดเป็น 5% ของผู้ตอบแบบสำรวจและกระจายอยู่ในทุกอุตสาหกรรม กำลังค้นพบเส้นทางใหม่ในการกำหนดกรอบความเสี่ยงให้เป็นโอกาสในการสร้างมูลค่า พวกเขา (73% เทียบกับ 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ) มีแนวโน้มที่จะมีกลยุทธ์และแผนงานด้านเทคโนโลยีทั่วทั้งองค์กร มีแนวโน้มมากกว่า 1.8 เท่าที่จะกล่าวว่าตน “มั่นใจมาก” ในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตและการจัดการความเสี่ยง มีแนวโน้มที่จะมองว่า GenAI เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยงถึง 1.8 เท่า และมีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสมากกว่าการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ที่ปลอดภัยหรือความเสี่ยงต่ำถึง 1.6 เท่า นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างมากที่จะยกระดับทักษะทีมภายในเกี่ยวกับความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง และแสดงความสอดคล้องกับซีอีโอและคณะกรรมการในระดับที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น (32% ตรงกับซีอีโอและคณะกรรมการของพวกเขา เทียบกับ 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวม)
แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่มีความทะเยอทะยานที่ชัดเจนในการใช้แนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นในการรับมือกับความเสี่ยง แต่ก็มีช่องว่างด้านความสามารถและการดำเนินการ โดยมีเพียงหนึ่งในสิบ (10%) เท่านั้นที่ใช้การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ขั้นสูง เทคโนโลยีล้ำสมัย และข้อมูลเพื่อการจัดการความเสี่ยงและมีการปรับปรุงและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หลายองค์กรยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและการพัฒนาของความพร้อมด้านเทคโนโลยีและข้อมูล โดยมีเพียง 14% ที่สำรวจหรือเพิ่งเริ่มใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อจัดการความเสี่ยง ในขณะที่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ (24%) กำลังใช้เทคโนโลยีพื้นฐานและเครื่องมือข้อมูล เพื่อการจัดการความเสี่ยงหรือมีการกำหนดเทคโนโลยีและข้อมูลขั้นตอนในการจัดการความเสี่ยง
นาย ไซมอน เพอร์รี่ หัวหน้าสายงานตลาดและบริการ ความเสี่ยง PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ยุคของสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงที่ไม่ร้ายแรงได้สิ้นสุดลงแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งถูกขยายวงกว้างขึ้นจากความเร็วและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ภัยคุกคามเหล่านี้หมายถึงการต้องมีการจัดการความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและล้อมรอบด้วยการเติบโตและโอกาส ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับตัวและสร้างสรรค์ตัวเองใหม่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อปกป้องและสร้างคุณค่า
ด้านนาย ริชี อานันท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมถึงภูมิทัศน์ความเสี่ยงของประเทศไทยว่า ธุรกิจไทยยังไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดการความเสี่ยงอย่างเต็มศักยภาพ แม้ว่าจะเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทหลายแห่งไม่มีกระบวนการระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ และการลดความเสี่ยง ในขณะที่บางรายมีความสามารถในการติดตามความเสี่ยง แต่ก็ยังขาดเทคโนโลยีเพื่อจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพวกเขายังคงพึ่งพาแนวทางที่ล้าสมัยและทำงานแบบเป็นไซโล
“หากพิจารณาถึงภัยคุกคามเหล่านี้ บริษัทไทยจำเป็นที่จะต้องเปิดรับเทคโนโลยีจัดการความเสี่ยง ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่ใช่ ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุความเสี่ยงจากแหล่งต่าง ๆ ลดข้อผิดพลาด รวมไปถึงจัดการและติดตามความเสี่ยงแบบองค์รวมได้” นาย ริชี กล่าว
นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังมีท่าทีที่แตกต่างกันออกไปต่อเทคโนโลยี GenAI ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างไร
“บริษัทบางแห่งมองว่า generative AI เป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่เข้ามาช่วยลดภาระงานที่ต้องทำเอง หรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอคติ ความปลอดภัย และภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวจากการใช้เอไอ แต่ก็มีบริษัทหลายแห่งที่ต้องการใช้ generative AI ที่ถูกปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละความต้องการทางธุรกิจของพวกเขา” นาย ริชี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 66)
Tags: PwC, ความเสี่ยงไซเบอร์