ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ย.ทรงตัว แม้พลิกขาดดุลบัญชี-ดุลการค้า จับตานทท.จีน-ส่งออก-เอลนีโญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.66 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย จากผลของฐานสูงปีก่อน

ส่วนแนวโน้มในเดือน ธ.ค.66 และระยะต่อไป มองว่าในเดือน ธ.ค.กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ แต่ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออกสินค้า 2) ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 3) นโยบายของภาครัฐ และ 4) ผลกระทบของเอลนีโญ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ในฐานะโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในเดือนพ.ย.66 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้นจากหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงโดยเฉพาะรถกระบะบรรทุก สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปรับลดลงตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือนพ.ย. อยู่ที่ 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 2.2 ล้านคน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า รวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ยุโรป และสหราชอาณาจักร สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพ.ย. ขยายตัว 3.9% แต่หากไม่รวมทองคำ จะขยายตัว 3.6% ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวได้ 5.7% โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถกระบะไปออสเตรเลีย และสินค้าเกษตรแปรรูปตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย ซึ่งเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กไปสิงคโปร์ จากปัจจัยชั่วคราวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้าง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ และฮ่องกง

มูลค่าการนำเข้าสินค้า (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และสินค้าทุน ไม่รวมเครื่องบินตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อการลงทุน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ไม่รวมเชื้อเพลิงปรับลดลงตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากอาเซียน และเหล็กจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเช่นกันหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ 2) หมวดยานยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ ตามการผลิตเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการผลิตสินค้า

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางทรงตัว โดยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ขยายตัวถูกชดเชยกับการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของงบกลางที่หดตัว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. อยู่ที่ -0.44% ลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.58% ลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ระดับราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจะยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน โดยในเดือนพ.ย. ดุลบัญชีเดินสะพัด พลิกกลับไปขาดดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ ครั้งแรกในรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่ ก.ค.66 ที่ขาดดุล 0.5 พันล้านดอลลาร์

“เดือนพ.ย.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.2 พันล้านดอลลาร์ มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก จากการขาดดุลการค้าเล็กน้อยในเดือนพ.ย. จากการส่งออกทองคำ และยานยนต์ที่ลดลง แต่มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น และอีกส่วน คือ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น ตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งกลับกำไรของบริษัทต่างชาติ” โฆษก ธปท. ระบุ
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top