In Focus: ส่องเทรนด์แวดวงการลงทุนปีหน้า มีอะไรให้ต้องจับตาบ้าง

อีกไม่กี่วัน ปี 2566 ก็จะกลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว หลาย ๆ คนก็น่าจะกำลังเร่งหาข้อมูลให้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการลงทุน ซึ่งตลอดปีนี้มีเรื่องให้ต้องวุ่นวายใจมากมาย ทั้งเงินเฟ้อ แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

แล้วในปีหน้า ปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่ไหม หรือจะมีประเด็นใดให้ต้องติดตามกันอีก ตลาดการลงทุนมีเรื่องให้ต้องติดตามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าติดตามว่าธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะตัดสินใจอย่างไร สถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองที่คาดเดาได้ยากนั้นจะดุเดือดขนาดไหน การติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างใกล้ชิดจะทำให้เราตัดสินใจลงทุนได้อย่างหนักแน่นยิ่งขึ้น และเข้าใจกลไกเบื้องหลังตลาดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

 

ในยุคที่ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็พูดถึงแต่เอไอ (AI) In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอลองใช้เครื่องมือเอไออย่างบาร์ด (Bard) และคล้อด เอไอ (Claude.ai) เพื่อให้ข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่แวดวงการลงทุนควรจับตาในปีหน้า แล้วเอไอให้เค้าโครงสิ่งที่น่าติดตามในปีหน้าไว้อย่างไรบ้าง เราไปดูกัน

 

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

เหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าจะมีอิทธิพลมากที่สุดในเวทีโลกในปีหน้าคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยชาวสหรัฐที่มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าคูหาเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเพื่อดำรงตำแหน่งไปอีก 4 ปี ซึ่งผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต ได้ประกาศตัวลงศึกเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งนี้ต่อเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ขณะที่ประธานาธิบดีคนก่อนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ก็ตัดสินใจลงสนามด้วยเช่นกัน หลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับนายโจ ไบเดน ไปในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า

หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยแบบไม่ติดต่อกัน ถัดจากประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เมื่อปี 2440 และหากนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคของตนเองในที่สุดแล้ว ก็จะเป็นศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีคู่ชิงตำแหน่งซ้ำกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2499

การเลือกตั้งในปี 2567 น่าจะเป็นการกลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยแม้พรรคเดโมแครตจะมีผู้สมัครเพื่อขอรับการเสนอชื่อลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในนามของพรรคฯ อยู่ 3 คน แต่นายโจ ไบเดน ก็ยังคงได้รับคะแนนสนับสนุนมากที่สุด และในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐยังไม่มีประธานาธิบดีคนปัจจุบันคนใดที่เคยเสนอชื่อตนเองซ้ำแล้วพรรคไม่เลือก ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน แม้ที่ผ่านมาจะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณีจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อเดือนม.ค. 2564 แต่เขาก็ยังมีผู้สนับสนุนมากกว่าสมาชิกพรรคฯ คนอื่น ๆ แม้ในพรรคฯ จะมีผู้สมัครเพื่อขอรับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งผู้นำประเทศในนามพรรครีพับลิกันถึง 7 คน

ตลาดมองว่า หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้น นักลงทุนน่าจะขายพุทออปชัน (put option) และซื้อคอลออปชัน (call option) เพื่อทำกำไรได้ อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงเวลาที่ทรัมป์เคยดำรงตำแหน่งมาก็ปรากฏให้เห็นชัดแล้วว่า ในแง่การเมืองระหว่างประเทศนั้น เขาได้สร้างผลกระทบอะไรไว้บ้าง ในทางกลับกัน หากนายไบเดนได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ตลาดหุ้นน่าจะค่อนข้างซบเซาในช่วงแรก ๆ จนกว่าประเด็นเรื่องภาษีและนโยบายสาธารณะอื่น ๆ จะชัดเจนกว่านี้

 

ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

สหรัฐเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางตลาดหุ้น ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐเองและตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งหากเฟดไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดการณ์ในวงกว้างแล้ว ตลาดหุ้นก็น่าจะซบเซาลง

เฟดได้รุกปรับขึ้นดอกเบี้ยมาหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2565 เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ โดยตลาดควรติดตามการประชุมนโยบายของเฟดในปี 2567 อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึงขีดสุดได้เมื่อใด และเฟดจะรู้สึกว่าควรต้องปรับลดดอกเบี้ยเมื่อใด

สำหรับปี 2567 เฟดได้กำหนดตารางการประชุมไว้แล้ว โดยมี 8 ครั้งด้วยกันตลอดทั้งปี ไล่ตั้งแต่มกราคม มีนาคม พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม กันยายน พฤศจิกายน ธันวาคม ซึ่ง ณ ขณะนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.4% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. 2567

สิ่งที่นักลงทุนควรจับตาดูคือรายงานหลังการประชุมเฟดแต่ละครั้ง ไปจนถึงตัวเลขคาดการณ์ข้อมูลเศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งจะช่วยส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยในทางใดบ้าง หากข้อมูลเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ตลาดหุ้นก็น่าจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่หากข้อมูลที่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงเช่นนี้ต่อไปหรือปรับขึ้นอีก ตลาดก็อาจจะตอบรับไม่ดีนัก

โดยจังหวะและระดับตัวเลขในการปรับดอกเบี้ยนั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อ ข้อมูลจ้างงาน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และหากเฟดเองส่งสัญญาณผ่อนคลาย (Dovish) ตลาดก็น่าจะมีความกังวลลดลง และดันมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยงให้สูงขึ้นด้วย

 

จับตาผลประกอบการองค์กรใหญ่

บริษัทรายใหญ่ ๆ ในสหรัฐจะเริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ของปี 2566 ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งผลประกอบการเหล่านี้เป็นที่ติดตามกันอยู่แล้ว เพราะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของหุ้นตัวสำคัญ

ผลประกอบการของบริษัทที่ถูกจับตาเป็นพิเศษนั้นมีทั้งหุ้นบริษัทเทคโนโลยีในกลุ่ม FAANG อย่างแอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ อะเมซอน อัลฟาเบต เมตา ไปจนถึงหุ้นเน็ตฟลิกซ์ ทั้งยังมีหุ้นธนาคารรายใหญ่ ๆ ที่ควรจับตาอย่างเจพีมอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลล์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป

หุ้นของบริษัทเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตลาด นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่มพลังงานและเภสัชภัณฑ์ก็เป็นบริษัทที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกดูจะชะลอตัวลง บริษัทเหล่านี้อาจทำผลงานได้ไม่ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งหากทำไม่ได้ตามเป้า หรือทำได้ตามเป้าแต่มองว่าอนาคตจะไม่สดใสแล้ว หุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบและอาจกระทบต่อไปยังบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย ส่วนบริษัทที่ทำผลงานได้ตามเป้าแม้ในยามที่ท้าทายเช่นนี้ก็จะเติบโตต่อไป โดยนักลงทุนควรวิเคราะห์ให้ลึกกว่าเพียงตัวเลขผลประกอบการ เช่น ดูอัตรากำไร กระแสเงินสดอิสระ และภาระผูกพันทางการดำเนินงานของธุรกิจ (operating leverage)

 

สารพัดข้อมูลสะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญตลอดทั้งปี 2567 นั้นจะช่วยประเมินภาวะของเศรษฐกิจ ขณะที่เฟดใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องนโยบาย ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นที่จับตามากที่สุดนั้นมีทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพื่อดูทิศทางเงินเฟ้อ ตัวเลขการจ้างงาน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ

ดัชนี CPI จะเป็นข้อมูลวัดเงินเฟ้อที่เป็นที่จับตามากเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นข้อมูลที่เฟดใช้ประเมินความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งหากดัชนี CPI พื้นฐานชะลอความร้อนแรงลดลงแล้ว ก็น่าจะทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้าเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง เฟดก็น่าจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก

สำหรับปี 2567 นั้น สถาบันรายใหญ่ ๆ หลายแห่ง ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ต่างคาดการณ์ว่า ในภาพรวมทั่วโลกนั้น เงินเฟ้อจะลดความร้อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ถือว่าลดลงค่อนข้างมากจากระดับเงินเฟ้อที่ร้อนแรงมาก ๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้

ขณะเดียวกัน ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเฟดเช่นเดียวกัน ซึ่งหากตลาดแรงงานมีการจ้างงานแข็งแกร่งและค่าจ้างพุ่งแรงแล้ว เฟดก็น่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน หากตลาดแรงงานร้อนแรงลดลงก็น่าจะทำให้เฟดมีช่องทางปรับนโยบายให้สอดรับกันได้

ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP นั้นก็เป็นอีกข้อมูลที่นักลงทุนใช้เพื่อหาสัญญาณเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งหาก GDP ปรับตัวลดลงหลายไตรมาสติดต่อกันนั้น เฟดก็น่าจะปรับลดดอกเบี้ย และทำให้ตลาดเกิดความผันผวนได้

เมื่อมองในภาพรวมทั่วโลกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า GDP ทั่วโลกน่าจะชะลอตัวลงในปีหน้าเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ยังไม่ถึงกับถึงขั้นหดตัว ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ ความไม่สงบทางการเมือง หรือมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจะกระทบ GDP อย่างแน่นอน

 

ราคาพลังงานทั่วโลก

ความผันผวนของราคาพลังงานทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 โดยทิศทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศมหาอำนาจที่ชะลอตัวและส่งสัญญาณหดตัว ความต้องการน้ำมันดิบที่น้อยกว่าคาดจากจีน และการผลิตที่ลดลง จะเป็นปัจจัยชี้ชะตาตลาดน้ำมันในปีหน้า

ตลาดน้ำมันตลอดทั้งปี 2566 นั้นมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ที่ดูจะมีอิทธิพลมากที่สุดก็คือการลดกำลังผลิตโดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ซึ่งผลิตน้ำมันมากถึง 40% ของทั้งโลก

นับจนถึงขณะนี้ กลุ่มโอเปกพลัสได้ตัดสินใจขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 5% ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก ไปจนถึงปลายปี 2567 นอกจากนี้ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียเป็นได้ตกลงที่จะขยายเวลาการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนก.ค. ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1/2567 ขณะที่รัสเซียกล่าวว่า จะลดอุปทานน้ำมันดิบ 300,000 บาร์เรล/วัน และลดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 200,000 บาร์เรล/วันในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับตลาดน้ำมันปี 2567 น่าจะมีซัพพลายค่อนข้างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่สหรัฐมีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยแนวโน้มสำคัญที่สุดที่ควรจับตาเพื่อประเมินทิศทางราคาน้ำมันในปีหน้านั้นคือภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะความต้องการน้ำมันจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การที่กลุ่มโอเปกพลัสได้ตัดสินใจลดกำลังการผลิตอย่างที่ระบุไว้ข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นเพราะมีน้ำมันเกินความต้องการในตลาด แต่เป็นเพราะกลุ่มโอเปกพลัสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลง ซึ่งที่ผ่านมานั้น ข้อมูลบ่งชี้เศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นทั่วโลกให้ภาพที่ไม่น่าสดใสนัก และอาจถึงขั้นหดตัวด้วย จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันในปี 2567 จะมีแนวโน้มขาลงมากกว่าขาขึ้น

 

เหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญ

นอกจากสหรัฐแล้ว ปี 2567 ก็เป็นปีที่อินเดียจะจัดการเลือกตั้งเช่นกัน โดยเป็นที่คาดการณ์กันว่า นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้และได้ดำรงตำแหน่งต่อ อินเดียก็เป็นอีกประเทศที่ควรจับตามอง เพราะอิทธิพลของอินเดียในระดับสากลเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้อีกแล้ว ปัจจุบันอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนไปแล้ว นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าอินเดียจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุดในปีนี้และปีหน้าด้วย

นอกจากการเลือกตั้งผู้นำอินเดียแล้ว ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับไต้หวัน และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ก็เป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะสถานการณ์เหล่านี้ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลและตลาดผันผวนได้ตลอดเวลา

 

การทดสอบภาวะวิกฤต

ในแต่ละปีนั้น เฟดจะเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของภาคธนาคาร โดยในปีนี้เฟดได้เปิดเผยไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผลทดสอบเผยว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งมีสถานะแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรง

การทดสอบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารต่าง ๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552

สำหรับปี 2567 นั้น การทดสอบภาวะวิกฤตของเฟดจะเป็นที่จับตามองเป็นพิเศษแน่นอน เพราะเศรษฐกิจส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง ซึ่งในการทดสอบปีหน้านั้น เฟดได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะพัฒนาสถานการณ์สมมุติเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น และทำให้เห็นจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ได้

แต่เดิมนั้น เฟดจะประเมินธนาคารรายใหญ่ ๆ โดยใช้เหตุการณ์สมมุติเหตุการณ์เดียว ซึ่งปกติแล้วจะสมมุติว่าคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก อย่างไรก็ดี การใช้เหตุการณ์สมมุติเหตุการณ์เดียวอาจทำให้ธนาคารลดการลงทุนในการบริหารจัดการความเสี่ยง เมื่อผลลัพธ์เป็นที่คาดการณ์ได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ

 

ทั้งนี้ เมื่อตลาดมีความเคลื่อนไหวให้ต้องเฝ้าดูมากมาย นักลงทุนก็ต้องจับเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดให้ได้ โดยปีใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมืองเหล่านี้จะเข้ามากำหนดทิศทาง และขับเคลื่อนปฏิกิริยาตอบสนองของตลาด

การติดตามแนวโน้มนโยบายของเฟด ภาวะทางเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทใหญ่ ๆ เหตุการณ์ทางการเมือง และความเสี่ยงอื่น ๆ จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนตลาดได้มากขึ้น โดยผู้ที่จับทางได้และไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องเล็ก ๆ ก็จะโลดแล่นในปีหน้าได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าตลาดจะเคลื่อนตัวไปทางใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top