ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองสำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 67 ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจขยายตัวได้ไม่สูงมาก ที่ราว 2%YoY อย่างไรก็ดี เนื่องจากการส่งออกไทยในปีหน้า มีแนวโน้มจะยังคงผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเชิงลบ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ
โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ท่ามกลางปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังกดดันอุปสงค์ในประเทศอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสภาวะการเงินที่ตึงตัว แม้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแทนการถดถอยทางเศรษฐกิจ (soft landing) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนก็อาจทยอยฟื้นตัว โดยกลับมาขยายตัวได้จากผลของปัจจัยฐานที่ต่ำในปีนี้ และแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากดดันการส่งออกไทยในปีหน้า ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความผันผวนของค่าเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก รวมถึงภัยแล้งที่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
“การส่งออกไทยในปี 67 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก ที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในปี 67 ตามวัฏจักรของอุปสงค์สินค้าต่างๆ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า…ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 67 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในแดนบวกที่ 2.0% เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่คาดว่าอาจหดตัวราว -1.3% ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ -2.5%YoY” บทวิเคราะห์ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะได้รับแรงหนุนให้กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกตามวัฏจักรของอุปสงค์ของสินค้าต่าง ๆ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งองค์การการค้าโลก (WTO) มองว่าการค้าโลกจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ราว 3.3% ในปี 2567 จากปี 2566 ที่คาดว่าจะหดตัวที่ 0.8%
โดยการส่งออกไทยในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่
1. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวตามรอบวัฏจักร หลังการส่งออกชะลอลงจากช่วงโควิด19 ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับสินค้าที่มีความสอดคล้องกับกระแสยับยั้งโลกรวน มีความโดดเด่นมากขึ้น เช่น โซลาเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
2. สินค้าเกษตรยังมีความต้องการอยู่ อาทิ การส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนไปยังจีน อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าว น้ำตาล เป็นต้น อาจยังมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านอุปทานจากสภาพอากาศที่อาจแปรปรวน
3. สถานการณ์ด้านสินค้าคงคลังปรับตัวดีขึ้น หลังในช่วงปี 2566 มีการเร่งระบายสินค้าคงคลัง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าที่ชะลอตัวจึงส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 66)
Tags: การส่งออก, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย