ทากาโกะ มาซาอิ อดีตกรรมการบอร์ดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (25 ธ.ค.) ว่า นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการ BOJ จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารที่สร้างความสับสน โดยทำให้ตลาดเชื่อไปแล้วว่า BOJ ใกล้จะยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy)
ทั้งนี้ นายอูเอดะเพิ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ไม่ถึงหนึ่งปี แต่ได้ทำให้ตลาดเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินไปแล้วสองครั้ง รวมถึงครั้งเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่นายอูเอดะได้อธิบายเพิ่มเติมว่า BOJ จะทำอะไรได้บ้างหลังจากที่ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ความเห็นดังกล่าวของนายอูเอดะที่แถลงในรัฐสภาส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและค่าเงินเยนพุ่งขึ้น โดยกระตุ้นความคาดหวังของตลาดว่า BOJ อาจจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างเร็วที่สุดในเดือนธ.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ผลปรากฏว่า BOJ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอะไรในเดือนนี้
มาซาอิกล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ว่า คำพูดแสดงท่าทีคุมเข้มทางการเงินของนายอูเอดะในรัฐสภาขัดแย้งกับความเห็นล่าสุดของกรรมการ BOJ หลายคนที่เตือนว่า ไม่ควรมีการดีเบตกันก่อนเวลาอันควรในเรื่องการยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และเป็นที่น่าคลางแคลงใจว่า ความเห็นของผู้ว่าการ BOJ ได้สะท้อนมุมมองของคณะกรรมการอย่างถูกต้องต่อสาธารณชนหรือไม่
“ในฐานะประธานการประชุมนโยบาย ผู้ว่าการไม่ควรพูดเกินกว่าสิ่งที่คณะกรรมการได้ตัดสินใจแล้ว” มาซาอิกล่าว โดยมาซาอิเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ BOJ จำนวน 9 คน ตั้งแต่ปี 2559-2564
“ลำดับการสื่อสารของ BOJ ล่าสุดสร้างความสับสนและอาจจำกัดทางเลือก” เกี่ยวกับช่วงเวลาการยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยการกระตุ้นให้เทรดเดอร์คาดการณ์ความเป็นไปได้ของการยุตินโยบายในทันที มาซาอิกล่าว
ด้วยอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นสูงเกินเป้าหมาย 2% ของ BOJ มานานกว่าหนึ่งปีแล้ว ผู้เล่นในตลาดจำนวนมากจึงคาดหวังว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ไม่ติดลบในปีหน้า โดยบางคนเก็งว่า BOJ จะดำเนินการเร็วที่สุดในเดือนม.ค.นี้
มาซาอิกล่าวว่า ในประเทศที่ประสบกับภาวะราคาและค่าแรงซบเซามาหลายทศวรรษอย่างญี่ปุ่นนั้น การสร้างวัฏจักรการเติบโตของค่าแรง-เงินเฟ้อในเชิงบวกได้อย่างต่อเนื่องอาจต้องใช้เวลาสักระยะ
มาซาอิเสริมว่า การยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษในเร็ว ๆ นี้จะเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ค่าแรงเติบโตอย่างยั่งยืนและไม่กลับสู่ภาวะเงินฝืดอีก
“ยากที่จะเห็น BOJ เปลี่ยนแปลงนโยบายได้เร็วตามที่ตลาดคาดหวัง เช่น ในเดือนม.ค.หรือเม.ย. เมื่อพิจารณาความเห็น (เชิงผ่อนคลายทางการเงิน) ของกรรมการแต่ละท่านและการประเมินเศรษฐกิจของรัฐบาล”
มาซาอิ กล่าว
ปัจจุบัน มาซาอิดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยทางการเงินและเศรษฐกิจของ SBI
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 66)
Tags: BOJ, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, นโยบายการเงิน, อัตราดอกเบี้ย