คมนาคมเจรจา BTS ยืดเวลานั่งฟรีสายสีชมพูชดเชยช่วงหยุดวิ่ง 7 สถานีจากเหตุรางสายไฟร่วง

กระทรวงคมนาคม แถลงชี้แจงกรณีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน เช้ามืดวานนี้ ทำให้รถยนต์ที่จอดด้านล่างได้รับความเสียหาย และต้องหยุดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูรวม 7 สถานี

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมจะเจรจากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในกลุ่ม บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เพื่อให้ขยายเวลาใช้บริการฟรีออกไปจากกำหนดจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร วันที่ 3 ม.ค. 67 เพื่อชดเชยให้ประชาชนในระหว่างที่ต้องปิดสถานีไป 7 แห่งเพื่อซ่อมแซมจุดที่เกิดความเสียหาย อย่างน้อยตามจำนวนวันที่หายไปหรือการหยุดวิ่งบริการในช่วงถนนแจ้งวัฒนะ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยืนยันว่าระบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัย โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภค ไม่ใช่ระบบไฟฟ้า ซึ่งหากการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสถานีจนมั่นใจแล้ว ทำให้ช่วงเช้าของวันนี้สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) – สถานีมีนบุรี (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ส่วนตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานียังปิดให้บริการจนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จและตรวจสอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง

“กรณีดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เกิดจากระบบรถไฟฟ้า ดังนั้นประชาชนมั่นใจถึงระบบรถไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยในการใช้บริการได้ตามมาตรฐาน”นายสุริยะ กล่าว

รมช.คมนาคม กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ขอชี้แจงไม่ให้เกิดความสับสนก่อนว่าสิ่งที่หลุดร่วงลงมา เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่ใช่รางรถไฟฟ้า และเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงก่อนเปิดให้บริการ 1 ชั่วโมง ซึ่งผู้ให้บริการเดินรถจะตรวจสอบความพร้อมของระบบ โดยมีรถตรวจทางวิ่งทดสอบทุกวัน เมื่อรถตรวจทางออกตรวจจึงเจอว่ารางจ่ายกระแสไฟฟ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่ง สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจาก การดึง sheet pile ที่ฝังอยู่ใต้ดินยาวประมาณ 7 เมตรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วยรถเครนไปกระแทกรางจนเคลื่อน เมื่อรถตรวจทางมาถึงตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถไปกระแทกอีกทำให้เกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนหลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้าขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่าง ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว

“เรื่องนี้ถือเป็น อุบัติเหตุจากการรื้อถอนของงานก่อสร้างอีกโครงการหนึ่ง ไม่ใช่การก่อสร้างของรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะไม่ได้แจ้งผู้เกี่ยวข้อง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดเหตุขึ้น ถือเป็นบทเรียนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยกระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบาย กำหนดมาตรการกรณีมีการก่อสร้าง การรื้อถอน ในพื้นที่รถไฟฟ้า 1. ต้องมีการแจ้งเข้าพื้นที่ล่วงหน้าผู้เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน 2. มีการส่งมอบพื้นที่และตรวจรับร่วมกัน จะไม่ให้ทำงานหากองค์ประกอบไม่ครบ กรณีนี้ ให้รฟม.และ กรมราง กำกับดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะถือเป็นประเด็นใหม่ ที่เกิดอุบัติเหตุจากการรื้อถอนของการก่อสร้างของโครงการอื่น ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ 4 เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น”

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า มีประกันภัยที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแลทั้งหมด ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนการซ่อมแซมนั้น ทางบริษัท ได้เร่งสั่งซื้ออะไหล่แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีที่ต่างประเทศหยุดยาว ทั้งนี้ได้กำชับให้ซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาเปิดเดินรถโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะรถไฟฟ้าเร่งรัดก่อสร้าง เพราะระบบมีการตรวจสอบและเปิดให้บริการมาเดือนเศษแล้วไม่มีปัญหา แต่เป็นเหตุจากภายนอก

คาดซ่อมเสร็จใน 7 วัน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้าลงดิน ผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกับที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่เข้าใจว่า จะมีผู้รับเหมาย่อยเข้ามาช่วยด้วยซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นบริษัทอะไร ส่วนการชดใช้ค่าเสียหาย มีประกันดูแลครอบคลุมอยู่

ทั้งนี้ บริษัทฯประสานกับบริษัท อัลสตรอม ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่อเร่งสั่งซื้ออุปกรณ์ยึดรางจ่ายไฟฟ้า หรือคลิปยึด กับผู้ผลิต ซึ่งระยะทาง 5 กม.ที่เสียหาย ต้องใช้จำนวน 1,700 ตัว ขณะที่บริษัทมีสำรองอะไหล่เพียง 400 ตัว เพราะปกติตัวคลิปยึดจะไม่ค่อยชำรุด ส่วนรางจ่ายไฟฟ้าจะมีสำรองไว้ค่อนข้างมากเพื่อรองรับการสึกหรอจากการเสียดสี โดยมีสำรองกว่า 500 เท่าเพียงพอกับการซ่อมแซม ทั้งนี้ เมื่อได้จะนำเข้ามาทางเครื่องบินเพื่อให้เร็วที่สุด และประเมินหากได้คลิปยึดเข้ามา จะเร่งซ่อมใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

ส่วนจะมีการขยายเวลาให้บริการฟรีออกไปจากวันที่ 3 ม.ค. 2567 หรือไม่ บริษัทฯรับทราบ พร้อมหารือและให้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะขยายฟรีไปกี่วันเพราะต้องดูเรื่องการซ่อมบำรุงด้วยว่าจะเสร็จเมื่อใด

“ยืนยันรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบโมโนเรลที่ได้มาตรฐาน เป็นระบบเดียวกับสายสีเหลือง เหตุที่เกิดไม่ได้โทษใคร เพราะมีการทำงานอยู่ด้านล่าง เมื่อรถตรวจทางไปเจอ ก็เร่งแก้ไข ยืนยันได้ว้าระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยสูง ประชาชนให้ความเชื่อมั่นได้”

ส่วนการให้บริการจากนี้ รฟม.และบริษัทฯได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบ พบว่า ช่วงสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ระบบมีความปลอดภัย พร้อมให้บริการ แต่จะ อาจจะไม่สะดวกเล็กน้อยเพราะผู้โดยสารจะต้องมีการเปลี่ยนขบวน บริเวณจุดสับราง ช่วงสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยจะจัดการเดินรถเป็น 2 แบบ จากมีนบุรี-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ และจากสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ- เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ซึ่งสถานีที่ผู้โดยสารใช้จำนวนมาก คือ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และ สถานี วงแหวนรามอินทรา ซึ่งอยู่ฝั่งที่ไม่มีปัญหา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top