SCB FM ชี้วัฏจักรดอกเบี้ยโลกขาลงปี 67 กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ลด-บาทแข็งต่อ

SCB FM เผย ธนาคารกลางหลักมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า คาดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 4-5 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงดอกเบี้ยตลอดปี ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ด้านเงินบาท ณ สิ้นปีหน้า มีแนวโน้มแข็งค่าต่อที่ราว 32-33 บาท/ดอลลาร์ สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค ทั้งเงินหยวน และเงินเยน ที่น่าจะแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดการเงินในปี 2567 จะยังมีความท้าทายอยู่มาก โดยธนาคารกลางหลัก จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้ตลาดการเงินโลกอาจผันผวนขึ้นอีก

ทั้งนี้ ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 4-5 ครั้งในปีหน้า และการลดดอกเบี้ยครั้งแรก จะมีขึ้นอย่างเร็วในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ตลาดแรงงานที่อ่อนแอ อีกทั้งราคาน้ำมัน น่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป

ดังนั้น ทำให้มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) มีแนวโน้มลดลงต่อในปีหน้า โดย Treasury yields อายุ 2 ปี มีแนวโน้มอยู่ที่ 3.50-3.70% ณ สิ้นปี 67 ส่วน Treasury yields อายุ 10 ปี มีแนวโน้มอยู่ที่ 3.70-3.90% ทั้งนี้ ในระยะสั้นนี้ มีโอกาสที่ Yields อาจปรับสูงขึ้นได้บ้าง เนื่องจากมองว่าตลาดประเมินการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ราว 6 ครั้ง มากและเร็วเกินไป จึงอาจเห็น Correction ราว 20-30 bps ได้

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง ในปี 67 อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ไม่ติดลบ (จากปัจจุบันอยู่ที่ -0.10%) ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 67 ดังนั้น ในปีหน้า จึงอาจเห็นการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร และเงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มองว่า Yield อายุ 10 ปี มีแนวโน้มปรับลดลงได้เล็กน้อย มาอยู่ที่ราว 2.60-2.70% ณ สิ้นปี 67 โดยเป็นการลดลงตาม US Treasury yields นอกจากนี้ ยังคาดว่า Yield curve ของพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มลาดชันน้อยลง (Flatten) เนื่องจากมองว่า Yields ระยะสั้น จะทรงตัวตามการคงดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยแล้ว แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะมองว่ามีโอกาสราว 60% ที่ กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ของปี 67

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทปี 66 อ่อนค่าราว 1% เทียบจากต้นปี เป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเร็ว อีกทั้งภาวะสงครามต่างประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมือง และมาตรการภาครัฐของไทย ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเงินไทย อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 4 พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วราว 5% จากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากตลาดเริ่มกลับมามองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วในปีหน้า นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาทองที่สูงขึ้น และค่าเงินภูมิภาคที่เริ่มกลับมาแข็งค่า

ทั้งนี้ SCB FM มองว่า ค่าเงินบาทในปี 67 ยังมีปัจจัยหนุนทำให้แข็งค่าต่อได้ โดยนอกจากการลดดอกเบี้ยของเฟดที่จะทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแล้ว เงินบาทจะยังได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกเล็กน้อยในปีหน้า จากอัตราดอกเบี้ยโลกที่จะลดลง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ราคาทองคำ ส่งผลต่อค่าเงินบาทมากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ Sentiment จากจีนจะทยอยปรับดีขึ้น หากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตามที่คาด ประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะแคบลง ทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาทตามไปด้วย

สำหรับปัจจัยในประเทศ ที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อได้ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะมากขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจาก 2.6% ในปี 66 เป็น 3% ในปี 67 นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ตามการค้าโลก และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพลังงาน มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยในปีหน้า จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปสู่ระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปี 67

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในปี 67 คือมาตรการภาครัฐ และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนไทย โดยผู้ร่วมตลาดและนักลงทุนยังกังวลว่า มาตรการ Digital wallet อาจส่งผลต่ออุปทานพันธบัตรรัฐบาล และทำให้ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามาตรการดังกล่าว น่าจะไม่ทำให้ Yields ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากภาครัฐมีเครื่องมือในการกู้ยืมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการกู้ผ่านการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ทำให้อุปทานพันธบัตรรัฐบาลจะไม่เพิ่มขึ้นมาก

สำหรับความกังวลในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางนั้น มองว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เป็นวงกว้างยังมีน้อย ส่วนหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยไทยแม้ จะปรับขึ้นมาแต่ก็ยังต่ำ ประกอบกับงบดุลของภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ อาจมีบางกลุ่มธุรกิจที่ปราะบางผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่ประเมินว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลุกลาม

ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดเงินไทยอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่าน เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรราว 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ในขณะนี้ มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติคิดเป็น 5.8% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรไทยทั้งหมด ซึ่งลดลงจากช่วง pre-Covid ที่ราว 7.4%

สำหรับในปี 67 ประเมินว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรไทยได้ เนื่องจาก

1. วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก จะทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังกลุ่ม EM มากขึ้น

2. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitical risk) มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากหลายๆ ประเทศน่าจะให้น้ำหนักต่อสถานการณ์ในประเทศตนเองมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปี ขณะที่จีน ก็จะมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

3. การปรับ Position ของนักลงทุน น่าจะเอื้อให้เงินไหลกลับเข้าไทย โดยในระยะต่อไปที่ความไม่แน่นอนลดลง นักลงทุนน่าจะหันมาถือพันธบัตรรัฐบาลไทยมากขึ้น หลังจากที่ Yields ปรับลดลงไปมากแล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top