ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนต.ค.ในวันนี้ (22 ธ.ค.) โดยระบุว่า กรรมการ BOJ ได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารให้ตลาดรับรู้เกี่ยวกับการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) โดยกรรมการบางส่วนพยายามอธิบายว่า การปรับ YCC ถือเป็นย่างก้าวสำคัญในการปูทางไปสู่การยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy)
ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. คณะกรรมการ BOJ ประกาศปรับนโยบาย YCC โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% ขณะที่ตลาดมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นก้าวแรกของ BOJ ในการยุติใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ
นอกจากนี้ ที่ประชุม BOJ ยังประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% ในวันดังกล่าว พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.5%
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า BOJ ใกล้จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่กรรมการอีกคนหนึ่งกล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การที่ BOJ ปรับนโยบาย YCC ในการประชุมเดือนต.ค.นั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการยุติใช้นโยบาย YCC และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในอนาคต
อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ อีกคนหนึ่งกล่าวว่า BOJ ไม่ควรปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า การปรับนโยบาย YCC อาจจะนำไปสู่การยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินที่ BOJ ใช้อยู่ในปัจจุบัน
“เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เราจะถอนนโยบายผ่อนคลายการเงินในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นที่ BOJ จะต้องสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนเตรียมตัวให้พร้อมเมื่ออัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นกลับสู่แดนบวกอีกครั้ง”
กรรมการกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์กว่า 80% ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในปีหน้า โดยในจำนวนนี้มีครึ่งหนึ่งที่คาดการณ์ว่า เดือนเม.ย. 2567 เป็นเดือนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ BOJ จะยุติการใช้นโยบายดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 66)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย