นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ในปี 2567 ยสท. ตั้งเป้าหมายกำไรเติบโตที่ 400 ล้านบาท จากปีนี้ที่มีกำไร 219 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากการปรับกลยุทธ์การบริหาร จากปกติรายได้ 99% มาจากการขายในประเทศเป็นหลัก แต่ตั้งแต่ปี 2566 ยสท. ได้เริ่มมีการหันไปจำหน่ายบุหรี่ ใบยา และยาเส้นในต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นการส่งออกไปในประเทศที่ยังไม่มีความแข็งแรงด้านสาธารณสุขมากนัก เช่น เมียนมา กัมพูชา ซึ่งตลาดยาสูบยังมีแนวโน้มการเติบโต จากความต้องการบริโภคที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในมือ ขณะเดียวกัน มองว่าในอนาคตหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ยสท. ก็น่าจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจดังกล่าวได้ด้วย
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ยสท. ปรับลดลงอย่างมาก ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าในมิติของสาธารณสุขเพื่อให้มีผู้บริโภคบุหรี่ลดลง แต่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคไม่ได้ลดลงเลย เนื่องจากแม้ราคาบุหรี่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคก็หันไปบริโภคยาเส้นแทน ซึ่งมีอัตราภาษี 0% ขณะเดียวกัน ยังมีการแข่งขันจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นทุกปี และยังมีบุหรี่เถื่อนที่ลักลอบเข้ามาขายอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับ ยสท.
จากข้อมูล พบว่า ในปี 2560 ยสท. มีกำไรอยู่ที่ 9.34 พันล้านบาท ปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 1.14 พันล้านซอง คิดเป็น 2.88 หมื่นล้านมวน และมีกำไรต่อซองอยู่ที่ 6.49 บาท โดยหลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษียาสูบในปี 2561 ส่งผลให้ตัวเลขผลการดำเนินงานในทุกมิติของ ยสท. ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนล่าสุด ผลการดำเนินงานในปี 2566 มีกำไรอยู่ที่ 219 ล้านบาท ปริมาณการจำหน่าย อยู่ที่ 701 ล้านซอง คิดเป็น 1.4 หมื่นล้านมวน กำไรต่อซองลดลงเหลือ 0.31 บาท ลดลงกว่า 97.76%
นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ขณะนี้ ยสท. อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษียาสูบในทุกมิติ เพื่อให้มีความเหมาะสม และให้ ยสท. สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และออกมาเป็นโซลูชั่น เพื่อให้เห็นภาพอย่างละเอียด ภายใน 2 เดือนนี้” นายภูมิจิตต์ ระบุ
ทั้งนี้ ยสท. มองว่า การใช้โครงสร้างภาษียาสูบแบบ 1 อัตรา (tier) ไม่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมยาสูบ และอาจจะส่งผลกระทบกับ ยสท.หนักกว่าเดิม เพราะปัจจุบันที่มีการใช้โครงสร้างภาษียาสูบแบบ 2 tier ก็ทำให้การแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง โดยบุหรี่ราคาต่ำกว่า 60 บาท ต้องปรับขึ้นไปขายที่ราคา 60 บาทขึ้นไป ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศ จากที่เคยขาย 90 บาทขึ้นไป ก็ปรับราคาลงมาเล่นที่ 60-80 บาท ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคบุหรี่ต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบกับ ยสท. อย่างมาก
“ภาษียาสูบแบบ 1 tier น่าจะส่งผลกระทบหนักกว่าโครงสร้างภาษี 2 tier ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแน่นอน ซึ่งหากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว โครงสร้างภาษีแบบ 2 tier ก็ไม่เหมาะสมกับเราเช่นกัน จึงได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อศึกษาโครงสร้างภาษียาสูบในทุกมิติ เพื่อให้เรายังสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยยอมรับว่า ยสท.ไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม แต่อยากให้หน่วยงานยังคงมีกำไรอยู่บ้าง เพื่อให้สามารถดูแลพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายภูมิจิตต์ กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติในอุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ ประกอบด้วย 6 ปัจจัย ได้แก่ 1. โครงสร้างภาษี 2. การแข่งขันในอุตสาหกรรมบุหรี่ 3. ความไม่เท่าเทียมทางภาษี 4. ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) และ 5. Local Content 6. ความคล่องตัวของภาครัฐ ซึ่งในส่วนนี้ ยสท. มองว่าอาจจะต้องมีการทบทวนตัวเองว่ายังเหมาะสมกับการขายหรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจจะมีการจ้างหรือตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในส่วนนี้แทน
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกใบยานั้น ที่ผ่านมา ยสท. ให้การสนับสนุนนชาวไร่ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกจนถึงกระบวนการรับซื้อใบยา รวมถึงยังจัดหาใบยาจากผู้บ่มอิสระอีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยปัจจุบัน ยสท. มีโควตาการรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกิโลกรัม ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม
จากสถานการณ์ใบยาโลกในปีนี้ พบว่า ใบยาเบอร์เลย์ขาดแคลน ใบยาเตอร์กิซราคาต่ำกว่าตลาดโลก ไทยจึงสามารถแข่งขันได้ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ใบยาเวอร์ยิเนียมีราคาสูงกว่าตลาดโลก จึงยากในการระบายออกไปตลาดโลก ขณะที่ ยสท.มีใบยาเวอร์ยิเนียคงคลังมากกว่า 2.9 ล้านกิโลกรัม แต่ ยสท. ยินดีในการแบกรับและช่วยเหลือชาวไร่และผู้บ่มใบยาเวอร์ยิเนีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 66)
Tags: การยาสูบแห่งประเทศไทย, บุหรี่, บุหรี่ไฟฟ้า, ภาษียาสูบ, ภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม, ยสท.