นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทมั่นใจว่าช่วงปี 67-68 ผลประกอบการของบริษัทจะไม่สะดุดช่วงระหว่างรอสร้างดาวเทียมไทยคม 10 เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) มีอายุทางวิศวกรรมยาวออกไปถึงปี 68 มากกว่าที่เคยประเมินไว้ว่ามีอายุถึงสิ้นปี 66 เป็นผลจากการบริหารจัดการที่ดี ทำให้บริษัทยังสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดให้บริการไปยังดาวเทียมไทยคม 9 และดาวเทียมไทยคม 9A รวมไปถึงดาวเทียมไทยคม 10
โดยในฟิลิปปินส์ บริษัทสามารถขยายการให้บริการสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ (ไอพีสตาร์) กับ บริษัท วี อาร์ ไอที ฟิลิปปินส์ จำกัด เป็นการขยายการเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมที่ครอบคลุมพื้นที่ในฟิลิปปินส์เชื่อมต่อสัญญาณบรอดแบนด์โครงการของภาครัฐ เมื่อปลายปี 66 ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 67
ดังนั้น บริษัทยังมีรายได้จากไอพีสตาร์ต่อเนื่องจากการให้บริการทั้งในไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ลูกค้าเหล่านี้จะเป็นฐานในการให้บริการต่อเนื่องที่จะย้ายไปดาวเทียมไทยคม 9 และ ดาวเทียมไทยคม 9A ราวปี 68 ก่อนที่จะย้ายทั้งหมดไปใช้ดาวเทียมไทยคม 10 วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกในปี 70
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM คาดว่า รายได้ของบริษัทในปี 67-69 จะเติบโตมากกว่า 10% จากนั้นในปี 70 จะเติบโตก้าวกระโดดจากดาวเทียมไทยคม 10 ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่จะทำให้รายได้มั่นคง และจะมีกำไรจากการดำเนินการทุกไตรมาส (Core Prodit) ไม่นับรวมอัตราแลกเปลี่ยน จากสถานการณ์ในปี นี้รายได้ยังไม่นิ่ง เพราะมีการปรับพอร์ตของลูกค้าทั้งที่ออกไปและเข้ามาใหม่
ในช่วงปี 67-68 บริษัทจะมีรายได้ธุรกิจดาวเทียมจากไอพีสตาร์ สัดส่วน 50% และดาวเทียมไทยคม 6,7,8 ราว 50%
“รายได้จะเริ่มไต่ขึ้นปี 67 หลังจากปี 66 ลดลงไป เพราะเรากำลังปรับพอร์ตอยู่ ทั้งเข้าและออก ทำให้พอร์ตลูกค้ายังไม่นิ่ง แต่เรามองว่าหลังจากปี 67 เป็นต้นไป เราจะเห็นรายได้ไต่ขึ้น และกำไรก็ไต่ขึ้นตาม จะค่อยๆไต่ขึ้น จะเห็นรายได้กำไรขึ้นมาชัดเจนหลังดาวเทียมไทยคม 10 มา เพราะเราเซ็นสัญญา Eutelsat ขายแล้ว 50% ก็รับรู้รายได้เลยในปี 70”
ทั้งนี้ บริษัท สเปชเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ STI บริษัทในเครือไทยคม และ Eutelsat Asia PTE. LTD. บริษัทในเครือ Eutelsat SA ผู้ให้บริการดาวเทียมชั้นนำของโลกจากประเทศฝรั่งเศส บรรลุข้อตกลงให้ไทยคมจะเป็นผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่ ที่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก แก่ Eutelsat Asia จำนวน 50% ของช่องสัญญาณทั้งหมด เป็นระยะเวลา 16 ปี ตามอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมสำหรับโครงการดาวเทียมดวงใหม่มีความจุอยู่ที่ 100-120 Gbps
นอกจากนี้ตลาดญี่ปุ่นก็มีโอกาสกลับมาเป็นลูกค้า หลังจากบริษัทสามารถประมูลดาวเทียมใหม่ได้ บริษัทคาดว่าจะกลับไปทำตลาดญี่ปุ่นอีกครั้งในครึ่งหลังปี 67 ที่เป็นโอกาสที่จะเช่าใช้สัญญาณดาวเทียมไทยคม 10 และดาวเทียม LEO หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ
ส่วนออสเตรเลีย แม้รัฐบาลออสเตรเลียมีดาวเทียมเป็นของตัวเองแล้ว แต่ THCOM เปลี่ยน business model จากให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมมาเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมครบวงจรให้กับรัฐบาลออสเตรเลีย โดยใช้ดาวเทียมของออสเตรเลียเอง ซึ่งสามารถทำกำไรได้ดีมากขึ้น และล่าสุด บริษัทเซ็นสัญญา One Web เป็นตัวแทนขายช่องสัญญาณดาวเทียม LEO เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.66 ซึ่งเหมาะกับการใช้งานด้าน Mobility
ทั้งนี้ บริษัทได้จับมือกับบริษัท โกลบอลสตาร์ จำกัดจากสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกันพัฒนาโซลูชันและจัดสร้างสถานีภาคพื้นดินวงโคจรต่ำ เพื่อใช้เป็นโครงข่ายในการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมในภูมิภาคจากกลุ่มดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ หรือ LEO (Low Earth Orbit Satellite) ซึ่งวันนี้เปิดสถานีภาคพื้นดินดาวเทียมวงโคจรต่ำ ไทยคม-โกลบอลสตาร์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อให้บริการโซลูชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ
นอกจากนี้ THCOM ผลักดันธุรกิจ Space Tech ที่จะเป็น New S-Curve หลักๆ มี 2 ส่วน ได้แก่ (1) ธุรกิจดาวเทียม LEO หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ และ (2) Earth Insight การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่จะใช้กับหลายๆธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายแรกจะมีสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวม ภายในปี 67-68 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 2%
ส่วนวงโคจรตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกที่ประมูลได้นั้น นายปฐมภพ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างสรุปแผนธุรกิจ น่าจะมีความชัดเจนครึ่งแรกปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 66)
Tags: THCOM, ดาวเทียม, ปฐมภพ สุวรรณศิริ, หุ้นไทย, ไทยคม