บมจ.อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง (IROYAL) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 58 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.22% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
IROYAL ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา แนะนำโซลูชั่น จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการทางวิศวกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ครอบคลุมงานติดตั้งและงานซ่อมบำรุง สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์ ผ่านการนำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศ ตามความต้องการของลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ให้บริการจัดหาและจำหน่ายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบเผาไหม้ (Combustion System) เช่น อุปกรณ์กำจัดเขม่าควัน (Soot Blower) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป่าเขม่าควันในท่อเตาเผาขณะเผาเชื้อเพลิง เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) ด้วยเทคโนโลยีการจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) เช่น อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองชนิดไฟฟาสถิตย์ (Electrostatic Precipitator : ESP) เป็นเสมือนเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นละอองและไอน้ำมันจากกระบวนการเผาไหม้ในอุณหภูมิสูงออกจากไอเสีย เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่จะปล่อยออกไปสู่ภายนอก เป็นต้น
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบระบายความร้อน (Heat Exchanger System) เช่น แผงระบายความร้อน (Fill Pack) ที่อยู่ในหอหล่อเย็น ทำหน้าที่ลดอุณหภูมิของน้ำร้อนให้เย็นลงและส่งกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตในระบบต่างๆ อีกครั้ง เป็นต้น
4. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบอื่น ๆ ได้แก่ ระบบประปา (Water System) เช่น เครื่องกรองอนุภาคระดับไมครอนในน้ำดิบ (Microfiltration) ปั๊มน้ำ (Pump) วาล์วและหัวขับลมที่ใช้ในการควบคุมวาล์ว (Valve and Pneumatic Actuator) ระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน (Uninterruptible Power Supply System) เช่น เครื่องสำรองไฟ (UPS) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นต้น
ส่วนบริการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
1) การให้บริการเชิงบำรุงรักษา เป็นการนำเสนออุปกรณ์ชนิดเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว โดยหากอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้อยู่เป็นตราผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มบริษัทเป็นตัวแทน กลุ่มบริษัทก็จะจัดหาอุปกรณ์ชนิดเดิมและให้บริการติดตั้งตามรอบอายุการใช้งานเพื่อบำรุงรักษาและป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
2) การให้บริการเชิงพัฒนา เป็นการเสนออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม หรือเสนออุปกรณ์เสริมเพื่อติดตั้งเพิ่มเติมควบคู่กับอุปกรณ์เดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของลูกค้า รวมถึงการให้คำปรึกษา และร่วมกันพัฒนา ออกแบบ โดยเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการผลิต
กลุ่มลูกค้ารายหลักของกลุ่มบริษัทเป็นกลุ่มลูกค้าประเภทอุตสาหกรรมไฟฟ้า ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) ที่มีอุปกรณ์ซับซ้อนและมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงาน โดยกลุ่มบริษัทจะยังคงรักษากลุ่มลูกค้าประเภทนี้ต่อไป ด้วยการนำเสนอบริการเชิงบำรุงรักษาและบริการเชิงการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทได้เริ่มขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เช่น โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงงานปิโตรเคมี ที่มีระบบการเผาไหม้ (Combustion System) โรงงานปูนซีเมนต์ที่มีระบบจัดการของเสียและไอเสีย (Flue Gas Management System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ/หรือ ลดมลภาวะทางอากาศจากกระบวนการผลิตได้ และได้เริ่มขยายฐานลูกค้าด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน (Uninterruptible Power Supply System) โดยเน้นกลุ่มโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ อาคารโรงพยาบาล หรือศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน
กลุ่มบริษัทมีแผนการสรรหาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการในอนาคต 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Environmental Solutions and Services) เช่น การจัดหาวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพให้กับโรงกลั่นน้ำมัน การบำบัดทางเคมีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และอื่นๆ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้จะเน้นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดมลภาวะที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ
และ 2. กลุ่มธุรกิจบริการด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรม (Digital Services and Solutions) เช่น โรงไฟฟ้าอัจฉริยะและโซลูชั่นอุตสาหกรรม (Intelligent Power Plant and Industrial Solutions) ในอุตสาหกรรม Industrial Internet of Things หรือ IIoT รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเป็นการนำเสนอระบบที่จะเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลในระบบต่างๆ ที่มีความซับซ้อนและกระจัดกระจายให้สามารถเชื่อมโยงรวมศูนย์กันได้ และสามารถติดตามตรวจสอบระบบต่างๆ ได้ทันท่วงที ตามแนวทางการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และ การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance)
แผนธุรกิจดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยกลุ่มบริษัทจะพิจารณาถึงโอกาส ข้อจำกัด ความเสี่ยง ซึ่งจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของกลุ่มบริษัท ทั้งนี้ แผนธุรกิจในอนาคตข้างต้นนี้จะใช้เงินทุนหมุนเวียนภายใน
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 115 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 230 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนชำระแล้ว 86 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 172 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 9 พ.ย.66 มีนางนาฏนภา ประภัทรโพธิพงศ์ ถือหุ้น 116,421,400 หุ้น คิดเป็น 67.69% หลัง IPO จะลดเหลือ 50.62% นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง 13,923,800 หุ้น คิดเป็น 8.10% จะลดเหลือ 6.05% น.ส.ประภาพรรณ ประภัทรโพธิพงศ์ น.ส.ไพลิน ประภัทรโพธิพงศ์ น.ส.ศิวัตรา ศุภผลศิริ และน.ส.วไลพร ตันจิรวัฒนา ถือหุ้นรายละ 10,413,600 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.05% จะลดเหลือรายละ 4.53%
ผลประกอบการปี 63-65 มีรายได้รวม 122.44 ล้านบาท 196.78 ล้านบาท และ 116.98 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรขั้นต้น 27.48 ล้านบาท 60.06 ล้านบาท และ 50.98 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 27.48% 31.66% และ 44.51% ตามลำดับ กำไร/(ขาดทุน)สุทธิในช่วงดังกล่าว จำนวน (1.01) ล้านบาท 35.36 ล้านบาท และ 27.94 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 66 บริษัทมีรายได้ 167.53 ล้านบาท สัดส่วนรายได้มาจากการขาย 42.18% และรายได้จากการขายพร้อมติดตั้ง 57.82% กำไรสุทธิ 40.39 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.66 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 160.05 ล้านบาท หนี้สินรวม 29.79 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 130.26 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 66)
Tags: IROYAL, ก.ล.ต., สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง, เสนอขายหุ้น