นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ “Green Market Blue Ocean” ในงานสัมมนา Go Thailand 2024 : Green Economy – Landbridge โอกาสทอง?” ว่า ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนภารกิจเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างชัดเจน สะท้อนจากการเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่มฐานรากเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านราย จากเดิมที่ 1.4 ล้านราย ด้วยการเดินหน้าสู่แนวทางในการทำธุรกิจแบบใหม่เพื่อไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการใช้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจและสังคม (CSV: Creating Shared Value)
ธนาคารออมสิน ได้นำแนวคิดเรื่อง CSV มาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยมิติเพื่อสังคมนั้น ธนาคารสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น, ภาระดอกเบี้ยที่ลดลง, พึ่งพาตัวเองได้, มีภูมิคุ้มกันในระยะยาวด้วยเงินออม และหนี้ครัวเรือนที่ลดลง ส่วนมิติในการทำธุรกิจของออมสินนั้น ได้การสร้างลูกค้ารายใหม่, รักษาฐานลูกค้าเดิม, ลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ แต่ยังสามารถทำกำไรในระดับที่เหมาะสมได้
ปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้เดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเน้นไปที่หนี้ในระบบเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาลูกหนี้จากสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 1 หมื่นบาท ในช่วงโควิด-19 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ ธนาคารสามารถปล่อยกู้และดึงคนเข้ามาในระบบได้ราว 1.1 ล้านคน โดยไม่มีการตรวจเครดิตบูโร ไม่มีการวิเคราะห์รายได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการสินเชื่อดังกล่าว เกิดหนี้เสียขึ้นพอสมควร แต่ยังต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการกันสำรองหนี้เสียไว้อยู่แล้วราว 50% ก็จะใช้วงเงินในส่วนดังกล่าวเข้าไปดูแลโดยที่รัฐบาลไม่เสียเงินเพิ่ม
“ออมสินทำ 2 ธุรกิจแยกจากกัน ข้างหนึ่งเราทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ปกติ เป็นธนาคารขนาดใหญ่ 1 ใน 5 แต่ออมสินนำกำไรจากธุรกิจปกติไปรองรับธุรกิจเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ทำให้เราดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เยอะขึ้น เราเปลี่ยนองค์ประกอบ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการผลิต เปลี่ยนวิธีการจ้างงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอางานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสอดรับกลับเข้าไปในงานปกติของออมสิน เช่น เราเปลี่ยน Landscape ในการช่วยคน ด้วยการเข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เราเข้าไปลดดอกเบี้ยในธุรกิจดังกล่าวลงมาได้ 10% แต่กำไรมากขึ้น เราเข้าไปทำธุรกิจนอนแบงก์เพื่อช่วยคนจน เป็นธุรกิจใหม่ที่ก็ยังทำกำไร เป็นเรื่องจริงที่ออมสินขยายขอบเขตการทำธุรกิจมากขึ้น และสามารถช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริงอย่างยั่งยืน แต่ก็ยังมีกำไรและรายได้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้ ธนาคารออมสินมีกำไรสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมา” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่อง ESG นั้น ธนาคารยังดำเนินการเหมือนองค์กรอื่น ๆ ด้วย ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็น GREEN รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เดินหน้าสู่ ESG อาทิ การสร้าง ESG Score สำหรับการปล่อยสินเชื่อ โดยจะมีการประเมินบริษัทที่เข้ามาขอสินเชื่อ และหากได้คะแนนสูง 8-10 จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนธุรกิจที่ได้คะแนนต่ำ 0-2 จะอยู่ในกลุ่ม Negative List ซึ่งธนาคารจะส่งทีมเข้าไปช่วยเพื่อปรับเพิ่มคะแนนให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อผ่าน ESG Score ไปแล้วมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 66)
Tags: ธนาคารออมสิน, วิทัย รัตนากร