นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมเข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เพื่อให้มีข้อสั่งการ รวมทั้งทบทวนข้อกฎหมายการกำกับดูแลธุรกิจภัย ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จากกรณีที่มีบริษัทประกันภัย ได้ขายกรมธรรม์คุ้มครองโรคโควิด-19 ในรูปแบบ “เจอ จ่าย จบ” และประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายชดเชยสินไหมได้จนต้องปิดกิจการไปแล้ว
รวมทั้งล่าสุด ในกรณีของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่ถูกคปภ. สั่งระงับการขายกรมธรรม์เป็นการชั่วคราว เพื่อพิจารณาว่าแนวทางการกำกับดูแลยังมีช่องโหว่หรือไม่ และควรปรับแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ปัจจุบัน บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ยังอยู่ในแผนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ถือหุ้น มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 3 หมื่นล้านบาท และมีสินไหมค้างจ่ายกับผู้ทำประกันกว่า 5 แสนราย เป็นวงเงินกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้กลุ่มโควิดประมาณ 3.5 แสนราย ยอดเงิน 3 หมื่นล้านบาท และยังมีกรมธรรม์บังคับใช้อีก 1.87 ล้านกรมธรรม์ โดยทาง คปภ.ได้เข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัท และหยุดรับทำประกันใหม่แล้ว
“ได้กำชับให้บริษัทเปิดช่องทางให้บริการเพียงพอ ต่อผู้เอาประกัน และประชาชนที่เรียกคืนสินไหม และดำเนินการประสานประกันวินาศภัย ในการโอนพอร์ตที่บังคับอยู่ไปกับบริษัทประกันอื่น ตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อผู้เอาประกันและประชาชน ส่วนกรมอื่นๆ คาดดูแลได้เกือบ 100%” นายจุลพันธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หากบริษัทฯ ไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ คปภ.จะต้องยกระดับตามมาตรการกฎหมาย ในเรื่องของใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับความเสียหายจากกรมธรรม์โควิด “เจอ จ่าย จบ” ในส่วนของบริษัทประกันที่ปิดกิจการไปแล้ว ยังมีมูลหนี้คงค้าง 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งศักยภาพในการชำระและศักยภาพของ คปภ.มีจำกัด ประกอบกับกลไกในการตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมายได้ผ่านระยะเวลาไปพอสมควร ผู้เอาประกันจำนวนมากกว่า 8 แสนราย ดังนั้น ต้องทำให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย คือการตั้งงบประมาณแผ่นดินเข้ามาชดใช้คืนให้ ผ่านกลไกกองทุนประกันวินาศภัย แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบชำระคืนได้ 3-4 พันล้านบาทเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 66)
Tags: จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, สินมั่นคงประกันภัย, เศรษฐา ทวีสิน