ไทยพบโอมิครอน JN.1 แล้ว 1 ราย คาดเป็นสายพันธุ์หลักต้นปีหน้า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยเพิ่งพบโอมิครอน JN.1 (รุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86) จำนวน 1 ราย เมื่อ 28 ตุลาคม 2566 โดยมีการแชร์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครฯ ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) คาดว่าต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักเหมือนประเทศอื่น

สำหรับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2.86 หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “พิโรลา” ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ยังหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับโอมิครอนที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น EG.5.1 และ HK.3 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลว่า BA.2.86 อาจมีการกลายพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น โดยพบมีการซุ่มตัวแพร่เชื้อในระดับต่ำๆ มาหลายเดือนแล้ว และในที่สุดโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ได้อุบัติขึ้นมา

โดยโอมิครอน JN.1 เป็นรุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86 ซึ่งบนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นหนึ่งตำแหน่งคือ “L455S” ส่งผลให้มีความสามารถทั้งจับกับผิวเซลล์ และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในโลก ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดโดดเด่นในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของโอมิครอน JN.1 ทำให้ทั้งองค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ และอังกฤษ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางให้เข้ามารับการฉีดวัคซีน ด้านรัฐบาลอินเดีย ได้แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง และเว้นระยะห่างทางสังคม

ส่วนประเทศที่ตรวจพบโอมิครอน JN.1 จำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก รองลงมาคือ สหรัฐฯ, สิงคโปร์, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโอมิครอน JN.1 จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูงกว่า แต่อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรง ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top