ครม. ไฟเขียว 5 มาตรการแก้ PM2.5 วัด KPI ผู้ว่าฯ 17 จังหวัดพื้นที่หลัก

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอขอความเห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในปี 67 โดยเสนอมาตรการพร้อมกลไกในการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ รวมถึงเสนอให้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่ความกดอากาศสูงมาจากทางเหนือ ทำให้อากาศไม่กระจาย และปีนี้เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ แล้งจัด โดยที่มาของหมอกควัน มาจาก 4 แหล่งใหญ่ คือ 1. ไฟป่า 2. การเผาในพื้นที่เกษตร 3. หมอกควันข้ามพรมแดน และ 4. การจราจร ขนส่ง และอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ทส. ได้เสนอให้จัดทำมาตรการแก้ไขฝุ่นพิษ PM 2.5 และเสนอกลไกในการแก้ไข ทั้งระดับชาติ และระดับพื้นที่ โดยเน้นมาตรการ 5 ข้อ ได้แก่

1. กำหนดพื้นที่แบบเป้าหมาย คือ พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเป็นหลัก, กทม. และปริมณฑล, ป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง, ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง และพื้นที่เกษตรที่เคยมีประวัติการเผาซ้ำซาก

2. สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

3. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อสั่งการลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่

4. ปรับปรุงแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน

5. ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน จากระดับภูมิภาคอาเซียน ไปสู่การเจรจาทวิภาคี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้เป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ โดย KPI คือ พื้นที่การเผาไหม้ในป่า 20 แห่ง และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ใน 17 จังหวัด ต้องลดการเผาลง 50% ส่วนพื้นที่เป้าหมายรอง นอกเหนือจาก 17 จังหวัด และป่า 20 แห่ง ตั้งเป้าว่าต้องลดการเผาลง 20% และพื้นที่เกษตรอื่นๆ ลดการเผาลง 10%

โดยค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM 2.5 ถ้าเป็นภาคเหนือ ค่าเฉลี่ยต้องลดลง 40% กทม.และปริมณฑล ต้องลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 10% และภาคกลาง ลดลง 20% ส่วนจำนวนวัน ที่มีหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ในภาคเหนือ ต้องลดลง 30% กทม. และปริมณฑล ต้องลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องลดลง 5% และภาคกลาง ต้องลดลง 10%

สำหรับมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการ มีตั้งแต่ภาคราชการจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการให้ผู้ว่าเป็นประธานศูนย์ฯ คอยมอนิเตอร์ และมีชุดปฏิบัติการระดับอำเภอ ลงไปถึงระดับตำบล คอยควบคุมการเผา ซึ่งถ้าจะเผาต้องขออนุญาต และกระทรวงมหาดไทย โดยกลไกส่วนภูมิภาคจะจัดคิวไม่ให้มีการเผาในห้วงเวลาเดียวกัน

ขณะเดียวกัน จะมีการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน หากเอกชนรายใดนำเศษวัสดุทางการเกษตร ตอซัง ฟาง ใบไม้แห้ง เป็นต้น นำไปทำเป็นเชื้อเพลิง, วัตถุดิบสำหรับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล, อาหารสัตว์ หรือนำไปหมัก อาจจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี รวมทั้งการอุดหนุนเรื่องดอกเบี้ย เป็นต้น

“ต่อไปนี้ ผู้ว่าราชการทั้ง 17 จังหวัด ผลงานจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการลดปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ตรงนี้จะเป็น KPI ที่สำคัญ” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนประกอบของสารกำมะถันต่ำ ซึ่งราคาจะแพงกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปประมาณ 3 บาท และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 แต่ได้มีการขอให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือว่า ไม่ต้องรอวันที่ 1 ม.ค.67 ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย และให้จำหน่ายในราคาเดียวกับน้ำมันดีเซลทั่วไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top